วันที่ 13 กรกฎาคม 2566 เวลา 10.30 น. ณ ห้อง BARN ชั้น 1 โรงแรมเบสท์ เวสเทิร์น จตุจักร กรุงเทพมหานคร
นายวรงค์ แสงเมือง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการประเมินผลการดำเนินงานแบบเสริมพลัง (Empowerment Evaluation: EE) ตามโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ รุ่นที่ 1 ระหว่างวันที่ 13–14 กรกฎาคม 2566 จัดขึ้นที่ห้อง BARN ชั้น 1 โรงแรมเบสท์ เวสเทิร์น จตุจักร กรุงเทพมหานคร โดยมี นางสาวณัฐนิช อินทสระ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชน กล่าวรายงาน
นายวรงค์ แสงเมือง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า ตามแผนแม่บทที่ 5 เรื่องการท่องเที่ยวภายใต้กรอบของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีเป้าหมายมุ่งเน้นผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศด้านการท่องเที่ยวต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งการพัฒนาการท่องเที่ยวในระยะ 20 ปี ในระยะแรกให้ความสำคัญกับการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง วางรากฐานด้านการท่องเที่ยวที่เน้นมาตรฐานและคุณภาพระดับสากล แล้วจึงกระจายการท่องเที่ยวทั้งในมิติของพื้นที่และรายได้สู่ชุมชน ตลอดจนการให้ความสำคัญกับการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายสูงสุดของการท่องเที่ยวในการเป็นเครื่องมือในการลดความเหลื่อมล้ำของสังคมไทย โดยแผนย่อยการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม มีเป้าหมายในการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรมเพิ่มขึ้น กรมการพัฒนาชุมชนได้ส่งเสริมการดำเนินงานชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี รวม 3,680 หมู่บ้าน/ชุมชน เพื่อใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการสร้างรายได้ให้กับชุมชนด้วยการพัฒนาหมู่บ้านให้มีความพร้อมที่จะรองรับนักท่องเที่ยวดึงเสน่ห์ของชุมชนมาสร้างสรรค์เป็นสินค้าและบริการ ผ่านโปรแกรมการท่องเที่ยวที่หลากหลาย เชื่อมโยงการท่องเที่ยวกระแสหลัก ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาสัมผัสเสน่ห์ของหมู่บ้าน ซึ่งในปี 2566 กรมการพัฒนาชุมชนได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ เป้าหมายชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี จำนวน 25 ชุมชน ประกอบด้วย 2 กิจกรรม กิจกรรมที่ 1 ส่งเสริมกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากชุมชนท่องเที่ยวด้วยแนวคิดการจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ที่นักท่องเที่ยวลงมือปฏิบัติ (D-HOPE) แบ่งเป็น 5 กิจกรรมย่อย คือ 1) พัฒนาศักยภาพการจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ที่นักท่องเที่ยวลงมือปฏิบัติ (D-HOPE) 2) ค้นหาผู้จัดโปรแกรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (Champ) ผลิตภัณฑ์เด่นและการทดสอบโปรแกรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ 3) จัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ที่นักท่องเที่ยวลงมือปฏิบัติ (D-HOPE) 4) ยกระดับและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่ายให้นักท่องเที่ยว และ 5) ประเมินผลการดำเนินงานแบบเสริมพลัง (Empowerment Evaluation: EE) สำหรับกิจกรรมที่ 2 เป็นการผลิตสื่อเพื่อการประชาสัมพันธ์แหล่งชุมชนท่องเที่ยว
นางสาวณัฐนิช อินทสระ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชน กล่าวว่า การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการประเมินผลการดำเนินงานแบบเสริมพลัง (Empowerment Evaluation: EE) ในวันนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินผลการดำเนินงานการพัฒนาชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี การพัฒนาผู้ประกอบการชุมชนในการส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนและเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและถอดบทเรียนการพัฒนาชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ดำเนินการจำนวน 2 รุ่น โดยรุ่นที่ 1 ระหว่างวันที่ 13 – 14 กรกฎาคม 2566 และรุ่นที่ 2 ระหว่างวันที่ 20 – 21 กรกฎาคม 2566 โดยมีกลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมโครงการรวมทั้งสิ้น 250 คน แยกเป็นรุ่นละ 125 คน ประกอบด้วย 1) ผู้นำชุมชน 25 ชุมชน ๆ ละ 2 คน รวม 50 คน 2) ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 25 ชุมชน ๆ ละ 2 คน รวม 50 คน และ 3) นักวิชาการพัฒนาชุมชนจังหวัด/อำเภอ จำนวน 25 คน โดยได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนวิทยากรจากภาครัฐและเอกชนในการบรรยาย อภิปรายและฝึกปฏิบัติในหัวข้อการขับเคลื่อนชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ในสถานการณ์ปัจจุบัน การบริหารจัดการชุมชนท่องเที่ยวและการท่องเที่ยวสู่การท่องเที่ยวแบบ BCG โดย นางกนกกิจ พนาวาส นักวิจัยและพัฒนาอิสระ TREND AND TOOL TO Be a COOL OTOP Village โดย นายเรวัต จันทนง หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชน กรมการท่องเที่ยว การขับเคลื่อนการท่องเที่ยวในประเทศไทยด้วย Airbnb โดย นายศิวเมธ ชัยศิริ Market Manager จาก Airbnb การประเมิน การดำเนินงานชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีแบบเสริมพลัง Empowerment Evaluation : EE โดย ดร.ญาณวิธ นราแย้ม และมีการแบ่งกลุ่มฝึกปฏิบัติ การใช้เครื่องมือประเมินการดำเนินงานชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีแบบเสริมพลัง
นายวรงค์ แสงเมือง กล่าวเพิ่มเติมว่า ท่านทั้งหลายที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ถือเป็นผู้ที่มีความสำคัญมาก เพราะสามารถนำพาชุมชนของท่านไปสู่การพัฒนาที่มีความเหมาะสมทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม การจัดสรรทรัพยากรท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับชุมชน หลังจากการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ ผมหวังว่าผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและผู้นำชุมชน จะนำความรู้ที่ได้ไปพัฒนาชุมชน ผู้ประกอบการ และบุคลากรด้านการท่องเที่ยวในชุมชน ให้มีความพร้อมในการรองรับการขยายตัวของการท่องเที่ยว รวมทั้งส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนและประชาชนในการพัฒนาการท่องเที่ยวในพื้นที่และเพื่อส่งเสริมการตลาดและประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ที่ดีด้านการท่องเที่ยวของไทย ทั้งแหล่งท่องเที่ยว สินค้า บริการ และตอบรับการใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมในการพัฒนาและบริหารจัดการการท่องเที่ยว รวมทั้ง กรมการพัฒนาชุมชน จะได้นำผลจากการประเมินผลการพัฒนาชุมชนท่องเที่ยวและผู้ประกอบการในครั้งนี้ ไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาและส่งเสริมชุมชนท่องเที่ยวในโอกาสต่อไป
No comments:
Post a Comment