การเดินทางที่แสนประทับใจ ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมกับ 3 จังหวัดชายแดนใต้ - Go Ahead News

Go Ahead News

ก้าวไปข้างหน้ากับเรา

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Saturday, September 16, 2023

การเดินทางที่แสนประทับใจ ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมกับ 3 จังหวัดชายแดนใต้

ก่อนอื่น ต้องขอบอกก่อนว่า คณะเราที่จะเดินทางถูกถามมาว่า ไม่กลัวเหรอไป 3 ชายแดนใต้ มีอะไรให้เที่ยวให้เพลิดเพลินให้ชมบ้าง แล้วอาหารล่ะจะทานได้ไหม ทางคณะจึงอยากพิสูจน์ มาดูมาเห็นกับตาให้รู้ว่ามันเป็นอย่างไร เพื่อที่จะประชาสัมพันธ์ สื่อสารข้อมูลให้ทุกท่านได้รับทราบว่า มีความพิเศษและน่าเที่ยวอย่างไร และที่สำคัญปลอดภัยไร้กังวล ไม่ได้เหมือนที่คนเล่าขานกล่าวกัน และเมื่อได้มาแล้วก็อยากมาอีก

การเดินทางครั้งนี้ คณะเราได้เหินฟ้าจาก สนามบินดอนเมือง กรุงเทพมหานคร เพื่อมุ่งสู่หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา การเดินทางท่องเที่ยวของคณะเราในครั้งนี้จะเข้าไปพักที่จังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นจุดหลักในการพักของคณะเราถึง 3 คืน










จุดแรกของการท่องเที่ยวในจังหวัดปัตตานี คือต้องมากราบสักการะหลวงปู่ทวด วัดช้างให้ หรือ วัดราษฎร์บูรณาราม วัดสวย ปัตตานี ที่มีอายุเก่าแก่กว่า 300 ปี เลยทีเดียว อีกทั้งยังเป็น ที่เที่ยวปัตตานี ที่เป็นเหมือนศูนย์รวมจิตใจของชาวใต้ ไม่ว่าใครที่มาถึงปัตตานี ต้องแวะมาเที่ยวชมความสวยงาม และกราบสักการะหลวงปู่ทวด องค์จำลองตามที่ทุกท่านเคยได้ยินถึงความศักดิ์สิทธิ์ ตำนาน หลวงปู่ทวด เหยียบน้ำทะเลจืด ซึ่งเป็นเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า ครั้งหนึ่ง หลวงปู่ทวดได้เดินทางด้วยเรือสำเภาไปยังอยุธยา แต่เกิดพายุ และไม่สามารถเดินทางต่อได้ ระหว่างนั้นน้ำดื่มก็หมดลง หลวงปู่ทวดจึงได้จุ่มเท้าซ้ายลงไปในน้ำทะเล และน้ำบริเวณนั้นกลับกลายเป็นน้ำจืดที่สามารถดื่มได้ ทำให้เป็นที่อัศจรรย์ เมื่อท่านมรณภาพแล้ว ได้มีการนำพระศพท่านมาไว้ที่วัดช้างให้แห่งนี้ ทำให้มีการจัดงานสรงน้ำอัฐิหลวงปู่ทวด เป็นประจำทุกปี ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 5 ช่วงประมาณเดือนเมษายน ซึ่งในครั้งนี้ทางคณะรู้สึกประทับใจมาก ๆ เพราะเป็นวันดีคือวันที่ 9 เดือน 9 ถือว่าโชคดีจริง ๆ








หลังจากนั้นคณะเราก็เดินทางต่อ เพื่อไปรับประทานอาหารกลางวันที่ร้านอิควาน ดีไลท์ (IKHWAN DELIGHT) จังหวัดปัตตานี ต้องขอบอกเลยว่าที่นี่ เป็นสาขาที่ใหญ่ที่สุดในโลก คณะเราได้รับการต้อนรับอย่างดีจาก อาจารย์อาคม โสมนัส (มะรูฟ) ผู้บริหาร และน้อง ๆ ที่ GISBH อาหารอร่อยทุกอย่าง มีหลากหลายสไตล์ ไม่ว่าจะเป็น ผัดไทย ไก่ทอด ซุปเห็ดกับขนมปังกระเทียม โรตี ทานกับแกง สลัดไก่รมควัน ซีซาร์สลัด ราดหน้า และข้าวต่าง ๆ จากอุสเบกิสถาน อาหรับ และปากีสถาน ฯลฯ





อีกทั้งยังมีน้ำผลไม้รสชาติละมุน ไม่หวาน มาเสริฟให้คณะเราได้ดื่มกัน อาทิเช่น น้ำมะม่วง น้ำแอปเปิ้ล น้ำกีวี ที่ส่งตรงมาจากนครเมกกะ ประเทศซาอุดิอารเบีย รวมทั้งจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าจากมาเลเซีย ด้วย เกี่ยวกับ GISBH นั้นมีร้านอาหารที่มีสาขาอยู่ทั่วโลก มากกว่า 100 แห่ง ซึ่ง GISBH มีแนวคิดตรงกับหลักเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยมีธุรกิจครอบคลุมครบวงจร มีสาขาทั่วโลก เพื่อตอบสนองความต้องการของสังคม ของประชาชน โดยเฉพาะที่สังคมอิสลามตามหลักความรักซึ่งกันและกันในทุกเชื้อชาติศาสนา มีเครือข่ายอยู่ทั่วโลก มีบริษัทลูก 10 บริษัท ดำเนินธุรกิจที่แตกต่างกัน โดยมีธุรกิจต่าง ๆ มากกว่า 500 ธุรกิจ นอกจากจะมีร้านอาหาร เบเกอรี่แล้ว ยังมีโรงงาน ซักรีด คลินิค ร้านบูติก ร้านตัดเสื้อ ตลอดจน ในเรื่องของการศึกษา ที่มีตั้งแต่ระดับเนิร์สเซอรี่ อนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษาทั่วประเทศ ส่วนสาขาในต่างประเทศ พยายามให้มีสาขาในทุกทวีป หรือหากไม่มีก็จะส่งตัวแทนไปเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์กับสังคมที่นั่น กับผู้นำ และองค์กรศาสนา ทั้งใน ออสเตรเลีย รัสเซีย โดยมีเป้าหมายหลักคือ การกลับคืนสู่พระเจ้า 
















อิ่มหนำสำราญกันแล้ว คณะเราก็ได้เดินทางต่อ เพื่อเยี่ยมชมแหล่งผลิตรังนกแท้ แบรนด์ “แหลมทองรังนกไทย” ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากคุณธานัท เด่นสันติกุล หรือคุณแบงค์ ชายหนุ่มรูปงามเจ้าของผลิตภัณฑ์แหลมทองรังนกไทย ซึ่งคณะเราได้ดื่มรังนกแท้ ทั้งในแบบบรรจุขวด ซึ่งมีทั้งแบบสเตอริไลซ์ และแบบพาสเจอไรซ์ รวมทั้งรังนกต้มสดกับใบเตย ซึ่งหอมอร่อย เมื่อดื่มแล้วสดชื่นมาก โดยได้ความรู้ว่ารสชาดของรังนกแท้จะคล้ายกับไข่ขาว แล้วจะรออะไรหล่ะคะ ก็ขออนุญาตเข้าเยี่ยมชมโรงงาน ดูไลน์การผลิต ตั้งแต่เริ่มต้น จนถึงขั้นตอนสุดท้าย กันเลย ทำให้คณะเรารู้คุณค่าของรังนกแท้ว่า กว่าจะได้ดื่มกันในแต่ละแก้วนั้น มีกรรมวิธีการผลิตอย่างไรในทุกขั้นตอนอย่างละเอียด ทำให้ทราบว่ามันเหมาะสมกับมูลค่าราคาที่ค่อนข้างสูงมากจริง ๆ ก่อนกลับพวกเราได้รับของที่ระลึก เป็นรังนกแท้แบบสเตอริไลซ์ ไม่ต้องแช่เย็น เพื่อดื่มบำรุงในอีก 3 วันที่อยู่ใน 3 ชายแดนใต้ 


และเพื่อให้กลมกลืนและเข้ากับวิถีชุมชน ในการมาอยู่ในกลุ่มชาวมลายู หรือที่เรียกกันว่า ชาวมุสลิม บรรดาสาว คณะเรา ก็แปลงร่างกันเป็นสาวมลายู ด้วยชุดอันแสนสวยโพกผ้าฮิญาบที่ศรีษะด้วย โดยการสนับสนุนของคุณนารีนาถ มั่นใจเกษตร (คุณนับ) เจ้าของแพร้านอาหารมายาวีร์ และบ้านสวนมายาวีร์ 







ก่อนจะถึงร้านอาหาร แวะชมแหล่งท่องเที่ยวที่ห้ามพลาดคือ มัสยิดกลางปัตตานี ซึ่งความพิเศษของมัสยิดกลางนี้คือ เป็นศูนย์รวมจิตใจ และเป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจของผู้นับถือศาสนาอิสลามในภาคใต้ที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองไทย ซึ่งมัสยิดกลางปัตตานี ได้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2497 เนื่องจากรัฐบาลได้ตระหนักถึงความสำคัญของศาสนาอิสลามซึ่งเป็นศาสนาที่ประชาชนชาวปัตตานีส่วนใหญ่นับถืออย่างเคร่งครัด รวมทั้งมีชาวมุสลิมจำนวนมากอาศัยอยู่ในพื้นที่สี่จังหวัดภาคใต้จึงเห็นสมควรให้จัดสร้างมัสยิดขนาดใหญ่ ไว้เพื่อเป็นศูนย์กลางแก่ชาวไทยผู้นับถือศาสนาอิสลามทั่วประเทศ สาวคณะเราได้ถ่ายรูปในลุคการแต่งตัวตามแบบฉบับสาวมลายูมาให้ได้ชมกันด้วย









และในค่ำคืนนี้จะเป็นคืนพิเศษสำหรับคณะเราที่จะได้ล่องแพไปบนแม่น้ำปัตตานี ที่เป็นความใฝ่ฝันของหลายท่าน ในครั้งนี้คณะเราได้รับเกียรติจากท่านพาติเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ซึ่งท่านเป็นผู้ว่าหญิงชาวมุสลิมท่านแรกของประเทศไทย ที่มีศักยภาพในความเป็นผู้นำชุมชนที่ เข้าถึงประชาชนในทุกเชื้อชาติ ทุกศาสนา ได้มาร่วมล่องแพทานอาหารไปพร้อมกับคณะเราด้วย ในบรรยากาศอันแสนโรแมนติค ได้เห็นวิถีชิวิตบ้านเรือนของคนที่อยู่ริมน้ำ ได้ยินเสียงละมาดจากมัสยิด ในวันนั้นครึ้มฟ้าครึ้มฝนเล็กน้อย มีฝนตกมาปรอย ๆ ทำให้บรรยากาศสดชื่นเพิ่มชึ้นอีก อีกทั้งยังได้รับลมเย็น ๆ ที่พัดผ่านมา ได้ทานอาหารอร่อย ๆ ที่มีหลากหลายรสชาด โอ๊ย มันฟินมาก ขอบอก รวมทั้งไฮไลท์ของแพที่ลอดใต้สะพาน ที่ลุ้นมาก ว่าจะผ่านมั้ยหนอ ได้เห็นนกนางแอ่นมากมายที่เกาะอยู่บนสายไฟ ถ้าแหงนหน้าขึ้นไปมองเหมือนสร้อยประดับระย้าลงมาเลยเชียว เป็นภาพบรรยากาศที่เห็นได้ทั่วไปใน จังหวัดปัตตานี คณะเราก็ได้ถ่ายภาพกันอย่างสนุกสนาน มีรูปถ่ายสวย ๆ มาให้ได้ชมกันมากมาย และแล้วความสนุกสนานสำราญใจก็ได้จบลงเมื่อแพล่องกลับไปสู่ร้านมายาวี 




และในค่ำคืนนี้ที่พักของคณะเราก็อยู่ติดกับแม่น้ำปัตตานีด้วย นั่นก็คือ โรงแรมเดอะริเวอร์ ปัตตานี นั่นเอง ที่เราใช้เป็นที่พักผ่อนตลอดระยะเวลาที่อยู่ใน 3 ชายแดนใต้


วันที่ 2 ของการเดินทาง







คณะเราพักผ่อนชาตแบตกันอย่างเต็มที่แล้ว ในตอนเช้าก็ลงมารับประทานอาหารเช้าตามเมนูที่โรงแรมมีให้เลือก ใครอยากทานอะไรก็สั่งไว้ตั้งแต่เมื่อคืน ซึ่งในห้องอาหารจะมีบริการ ชา กาแฟ และขนมปังด้วย นั่งทานอาหารไป ก็เพลิดเพลินไปกับทิวทัศน์สองฝั่งของแม่น้ำปัตตานี ที่ใสสะอาด ร่มเย็น เต็มไปด้วยต้นไม้นานาชนิด เพิ่มอรรถรสในการทานอาหารมากขึ้นไปอีก เมื่ออิ่มหนำสำราญกันเรียบร้อยแล้ว












คณะเราก็พร้อมออกเดินทางไปยัง ศูนย์เรียนรู้พิพิธภัณฑ์ปราชญ์ท้องถิ่น มูลนิธิอาจารย์ฮัจจียร์ สุหลง โต๊ะมีนา โดยมี คุณหมอเพชรดาว โต๊ะมีนา มาบรรยายเป็นความรู้ให้กับคณะเราได้ฟังความเป็นมาเป็นไปของมูลนิธิฯ และยังมีอีก 2 ท่าน ที่มาให้ความรู้กับคณะเราอีกคือ คุณจตุรนต์ เอี่ยมโสภา สมาชิกสภาจังหวัดปัตตานี และกรรมการมูลนิธิฯ และคุณมูฮัมหมัดอารีฟ แวสาแล ผู้ช่วยคุณหมอเพชรดาว อีกทั้งยังได้เลี้ยงอาหารว่าง ที่มีโรตีกรอบ จิ้มกับนมข้นและขนมอร่อย ๆ อีกหลายอย่าง รับรองคณะเราอีกด้วย ไม่เท่านั้น คุณหมอ ยังได้ส่งลองกอง จากสวนของคุณหมอเอง มาให้กับคณะเรา ได้ชิมความหอมหวานถึง โรงแรมที่พักกันอีกด้วย ในการมาเข้าชมพิพิธภัณฑ์นี้ ต้องแจ้งล่วงหน้าก่อน เพื่อที่จะได้จัดเตรียมต้อนรับผู้ที่สนใจมาศึกษาถึงประวัติความเป็นมาอาจารย์ฮัจจียร์ สุหลง โต๊ะมีนา และเหตการณ์สำคัญ ๆ ต่าง ๆ ที่ท่านไม่เคยรู้ ก่อนกลับพวกเราก็ได้รับเกียรติจากท่านเด่น โต๊ะมีนา อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และอดีตสมาชิกวุฒิสภา จ.ปัตตานี ซึ่งท่านเป็นคุณพ่อของคุณหมอ มาถ่ายภาพร่วมกับคณะเราด้วย











อาหารกลางวันวันนี้คงจะไม่ง่ายที่จะหารับประทานได้ทั่วไป เนื่องจากเป็นอาหารพื้นบ้านประจำท้องถิ่น ซึ่งคณะเราได้รับเกียรติจาก คุณมูฮัมหมัดอารีฟ แวสาแล (คุณยี) ให้เข้าไปร่วมในพิธีฉลองแต่งงานของชาวมลายู ที่เรียบง่ายและเป็นกันเองมาก มีการเลี้ยงอาหารกันตลอดทั้งวัน คือใครอยากมาเมื่อไหร่ก็มา อาหารมีพร้อมเสริฟตลอดเวลา ซึ่งคุณยี ได้บอกกับคณะเราว่า ในการทำอาหารให้กับแขกที่มานั้น จะคัดสรรแม่ครัวที่มีฝีมือในอาหารแต่ละชนิดมาเป็นผู้ปรุงอาหาร และจะทำเป็นหม้อใหญ่ ๆ เพื่อจะได้มีเสริฟตลอด ซึ่งในการจัดโต๊ะก็เหมือนกับโต๊ะจีนที่บ้านเรานั่นเอง ถ้าที่นี่เราก็คงจะเรียกเป็นโต๊ะมลายู ก็คงได้เนอะ ไม่น่าเชื่อว่าอาหารพิ้นบ้านที่เรารับประทานนั้นจะอร่อยถูกปากคณะเรา ทานกันอย่างเอร็ดอร่อยทีเดียวเชียว 










เวลามีไม่มากคณะเราต้องรีบเดินทางไปยัง จังหวัดยะลา ที่ได้รับเกียรติจากท่านวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา คนปัจจุบัน ได้เปิดบ้านต้อนรับคณะเราได้ไปเยี่ยมชม ซึ่งขอบอกว่าสวยงามมาก เป็นสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานกันอย่างลงตัว สวนสวย ตกแต่งอย่างสวยงาม สะอาด และเป็นระเบียบ ในแต่ละห้อง แต่ละมุม มีความเป็นเอกลักษณ์ โดยเฉพาะภายในส่วนของตัวบ้าน ที่ตกแต่งด้วยโต๊ะทานข้าวมากมาย สำหรับใช้เป็นสถานที่ประชุม และสังสรรค์กันได้อย่างลงตัว







จากนั้นคณะเราก็ได้ไป ร้านจำหน่ายฮิญาบ ชื่อดังของปัตตานี โด่งดังไปไกลถึงเพื่อนบ้านใกล้เคียงอย่างมาเลเซีย ที่เชื่อว่าไม่มีใครที่ไม่รู้จักร้าน ZU UAN ร้านจำหน่ายฮิญาบ ที่ได้ลิขสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย จากสวารอฟสกี้ (Swarovski) ประเทศออสเตรเลีย ที่จะนำคริสตัล มาประดับประดาติดลงบนผืนผ้าฮิญาบที่มีสีสันให้เลือกหลากหลาย โดยมีดีไซเนอร์ (designer) คนไทย เป็นผู้ออกแบบ สนนราคาเริ่มต้นจากหลักร้อย ไปจนถึงหลักแสน มีความสวยงามอลังเป็นอย่างมาก ซึ่งเจ้าของร้านคือ คุณธาราทิพย์ ปาตัน (ซูอ้วน) และคุณวันฮูเซ็น มานิตย์พันธ์ อีกทั้งยังมี คุณฮายันตี สะนิ เป็นผู้จัดการร้าน คุณอารียา กูนา เป็นรองผู้จัดการร้าน และคุณธัญมล สุขาเชิน เป็นดีไซเนอร์ ให้การต้อนรับคณะเรา ในครั้งนี้ ซูอ้วน ให้คณะเราเลือกผ้าฮิญาบ ที่ปักคริสตัลของสวารอฟสกี้ ตามสีที่อยากได้ กันคนละผืนอีกด้วย เพื่อให้คณะเราสวมใส่ในวันถัดไป ที่วังยะหริ่ง บอกเลยว่าสวยสมราคามาก












ทีนี้ก็ได้เวลาอาหารค่ำอีกหล่ะ คืนนี้เราได้ไปรับประทานอาหารที่บ้านสวนมายาวี ที่บรรยากาศร่มรื่นไปด้วยแมกไม้นานาพันธ์ ประดับด้วยไฟส่องสว่างสวยงามในยามค่ำคืนมาก ที่คุณนารีนาถ มั่นใจเกษตร (คุณนับ) ได้จัดเมนูอาหารแสนอร่อย ไม่ว่าจะเป็นแกงส้มใส่ข้าวโพด ก๋วยเตี๊ยวเรือ ราดหน้า สุกี้แห้ง ผัดสะตอ และอื่น ๆ อีกมากมาย มาให้คณะเราได้ทานกันอย่างเต็มที่ และไม่เท่านั้นในบ้านสวนมายาวี ยังเป็นแหล่งจำหน่ายสินค้า OTOP ที่ขึ้นชื่อโดยเฉพาะกระเทียมดำ ซึ่งได้รับรางวัลคุณภาพสินค้ามาการันตีอีกด้วย ปิดท้ายค่ำคืนนี้ก่อนกลับที่พักอันแสนสบายของคณะเรา ณ โรงแรม เดอะริเวอร์ ปัตตานี


วันที่ 3 ของการเดินทาง 














เช้าสดใส กับบรรยากาศที่สดชื่น ณ โรงแรม เดอะริเวอร์ หลังทานอาหารเช้าอันแสนอร่อยกันแล้วก็พร้อมเดินทางกันต่อ ในวันนี้คณะเรา ได้เข้าชม "วังยะหริ่ง" จังหวัดปัตตานี ที่สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2438 ในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยพระยาพิพิธเสนามาตยาธิบดีศรีสุรสงคราม เป็นวังที่มีลักษณะเฉพาะตัวด้วย สถาปัตยกรรมผสมผสานกันระหว่างไทยมุสลิม จีน และยุโรป ตัวอาคาร 2 ชั้น มีลักษณะครึ่งตึกครึ่งไม้ ชั้นล่างเป็นลานโล่ง ใต้ถุนตึกสูงชั้นบนแบ่งเป็นห้องโถงขนาดใหญ่ มีห้องพักของเจ้าเมืองและบุตรธิดา ช่องรับแสงประดับด้วยกระจกสีสด ช่องระบายอากาศ หน้าจั่วทำด้วยไม้ฉลุลวดลายงดงามจุดเด่น คือ บันไดโค้งแบบยุโรปทอดขึ้นสู่ระเบียงทั้งสองด้าน จากระเบียงมีประตูเปิดสู่ห้องโถงใหญ่ ลักษณะคล้ายท้องพระโรง บริเวณโดยรอบแวดล้อมด้วยพันธุ์ไม้ร่มรื่นอายุกว่า 100 ปี 

อีกทั้งยังเคยเป็นที่พักของ พลเอก ณรงค์ เด่นอุดม หรือ “คุณลุงติ๋ว” หรือ ต่วนกูอับดุลเลาะ ท่านเคยดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 4 และเป็นที่ปรึกษากองทัพบก เป็นบุคคลสำคัญที่เป็นที่ยอมรับอย่างสูงในความรู้ความสามารถความดี และเป็นแบบอย่างที่ดีงาม จึงเป็นความภาคภูมิใจของคนปัตตานีอย่างมาก โดย พลเอก ณรงค์ เด่นอุดม สืบเชื้อสายสุลต่านฟาฏอนี (ราญาฟาฏอนี) เป็นลูกหลาน “ตึงกูลามีเด็น” อดีตราญาปาตานีดารุสสลาม เกิดที่บ้านแขก ธนบุรี กรุงเทพฯ สมรสกับ ตึงกูซาบีดะห์ หรือ วุจจิรา พิพิธภักดี บุตรีของ พระพิพิธภักดี อดีตเจ้าเมืองสตูล มีบุตรด้วยกัน 3 คน จบการศึกษาจากสวนกุหลาบ และโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าฯ เคยรับราชการในกองทัพบก ผ่านตำแหน่งสำคัญมากมาย และเป็นแม่ทัพภาคที่ 4 ในปี 2542-2544 หลังเกษียณราชการได้ใช้ชีวิตกับครอบครัวที่กรุงเทพฯ และที่วังยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี 


ทั้งนี้ “วังยะหริ่ง” เป็นที่รู้จักไปทั่วเมื่อครั้งถูกถ่ายทอดผ่านงานเขียนด้วยฝีมือของ “พนมเทียน” หรือ ฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ และมีโอกาสโลดแล่นผ่านบทละครทางโทรทัศน์ในเรื่อง “มัสยา” ซึ่งผู้ประพันธ์ได้แรงบันดาลใจและผูกโยงเค้าโครงเรื่องจากการได้สัมผัสกับสถานที่แห่งนี้ รวมทั้ง ภาพยนตร์เรื่อง ละติจูดที่ 6 เรื่องราวความรัก ความศรัทธา ท่ามกลางสงคราม ความขัดแย้ง และคราบน้ำตา ภายใต้การสนับสนุนของกองอํานวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือที่เรารู้จักกันในชื่อย่อ กอ.รมน. ซึ่งการเข้าชมสามารถติดต่อขออนุญาตได้ที่ทายาทเจ้าของวัง โดยมีคุณเจ๊ะน่าห์  พิพิธภักดี  ผู้จัดการบริษัทแด๊กซินและผู้จัดการวังยะหริ่ง  เป็นผู้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาอีกด้วย












และแล้วก็ถึงช่วงเวลาอาหารกลางวัน ที่เราได้รับการสนับสนุนจาก คุณหนึ่งฤทัย อับดุลบุตร (คุณอูม) เหลนเจ้าเมืองยะหริ่ง เจ้าของร้านอาหารข้าวผัดปูพี่อูม ที่มีสาขาทั้งหมด 4 สาขาด้วยกัน แต่วันนี้เราไม่ได้ทานข้าวผัดปูกันหรอก แต่เราจะได้ลิ้มรสข้าวยำ ที่คุณอูม ตั้งใจทำให้กับคณะเราได้ลิ้มลองกัน ไม่ได้ทำขาย แต่จะทำให้ทานเป็นกรณีพิเศษเฉพาะแขกของคุณอูมเท่านั้น เมื่อได้ลิ้มลองแล้วบอกเลยว่ารสชาติ ของข้าวยำสูตรวังยะหริ่งนั้น เยี่ยมมาก อร่อยที่สุด ทำมาอย่างพิถีพิถัน เพราะเครื่องเยอะมากมายใช้ผักถึง 33 ชนิด คิดดูสิว่า กว่าจะซอยผักครบทุกชนิดจะใช้เวลานานขนาดไหน ราดด้วยน้ำบูดูสูตรพิเศษ แกล้มกับ ไก่กอแระ ปลากอแระ ผักเคียง ที่มี แตงกวา พริกขี้หนู มะเขือ สะตอ โดยเฉพาะเมื่อทานข้าวยำไปแล้ว ดื่มน้ำชาตามลงไป มันวิเศษมากมาย ตบท้ายกันด้วย ผลไม้พื้นบ้าน ลองกอง และรูกู อาหารมื้อนี้มันช่างดีต่อสุขภาพจริง ๆ







จากนั้นคณะเราก็เดินทางต่อไปเพื่อเยี่ยมชมสถาบันการศึกษาอัลฮาซานีวิทยา โดยได้รับการต้อนรับอย่างดีจาก คุณมูฮำมัดซูวรี สาแล นายกสมาคมสถาบันศึกษาปอเนาะจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งในครั้งนี้ทำให้คณะเราได้เข้าใจถึงการเป็นผู้ให้ โดยสถานที่แห่งนี้จะเป็นแหล่งช่วยเหลือและพัฒนาเด็กที่ด้อยโอกาส ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยที่ได้รับการสั่งสอนอบรมดูแลจากครู ที่ไม่ได้รับเงินเดือนมากมายอะไร แต่ทำด้วยใจ ให้ความเมตตากับเด็ก ๆ เหล่านี้เพื่อส่งออกสู่สังคมได้อย่างมีคุณภาพสามารถเลี้ยงตัวเองได้ และมีอนาคตที่ดีต่อไป






จากนั้น  คณะเราก็ได้ไปเที่ยวชม ทะเลแหลมตาชี หรืออีกชื่อเรียกคือ แหลมโพธิ์ อันซีนความงามจากธรรมชาติ ที่ปลายขวานทองของไทย โดยรอบของ แหลมตาชี ก็จะมีทั้งรีสอร์ทและบ้านพักตากอากาศอยู่เรียงรายตลอดเส้นทาง แต่ก็มีเฉพาะนักท่องเที่ยวท้องถิ่นมากกว่า แต่ที่นี่ค่อนข้างจะปลอยภัยในเรื่องของการเดินทาง เพราะเราสามารถเดินทางด้วยทางเรือจากปากแม่น้ำปัตตานีได้ ตัดตรงเข้าสู่แหลมตาชีได้เลย คณะเราได้เก็บภาพบรรยากาศสวย ๆ ของท้องทะเล น้ำทะเลสีเขียวสวยงาม มีกังหันอยู่อีกฝั่งของทะเล ได้ถ่ายรูปกับขอนไม้ธรรมชาติ และเรือกอและ ที่มีเหลืออยู่เพียงลำเดียวในเวลานั้น เพราะที่เหลือออกทะเลไปแล้ว โอ๊ย มันสดชื่น และดีต่อใจมากมาย ถึงแม้ช่วงที่เราไปแดดจะร้อนมากก็ตาม 









ส่วนในค่ำคืนนี้ก็เป็นคืนพิเศษอีกเช่นกัน ที่คณะเราได้รับเกียรติจากท่านพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชาการจังหวัดปัตตานี เลี้ยงอาหารค่ำให้กับคณะเรา ที่จวนผู้ว่าปัตตานี หรืออีกชื่อคือ เรือนชบา เมื่อเข้าไปข้างในอลังการมาก อาหารที่ท่านผู้ว่านำมาเลี้ยงคณะเรานั้น ก็เป็นอาหารท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็นขนมจีนน้ำยาใต้ สะเต๊ไก่และเนื้อ ข้าวยำ อื่น ๆ อีกมากมาย ตบท้ายด้วยลองกอง และทุเรียนทรายขาวที่ขึ้นชื่อ ทั้งแบบแช่แข็ง และทานสด มาถึงปัตตานี ต้องห้ามพลาด ก่อนกลับไปพักผ่อนในคืนนี้ คณะเราได้เก็บบรรยากาศ ร่วมถ่ายภาพหมู่ในท่าชบาบาน เพราะจังหวัดปัตตานี มีดอกชบา เป็นดอกไม้ประจำจังหวัดนั่นเอง และแล้วค่ำคืนอันแสนพิเศษนี้ก็จบลงด้วยความประทับใจที่ไม่มีวันลืม ด้วยความกรุณาของท่านพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชาการจังหวัดปัตตานี 

 











รวดเร็วมากวันสุดท้ายแล้วเหรอเนี่ย หลังทานข้าวเช้าเรียบร้อยแล้ว คณะเราก็เตรียมตัวออกเดินทางไปหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และไปไหว้เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ที่ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองปัตตานี ขอพรรับความสำเร็จ และรอบ ๆ ศาลเจ้าแม่ ยังมี มีสตรีทอารท์ รวมถึงบ้านเลขที่ 1 ซึ่งเจ้าของคือเจ้าของโรงแรง CS Hotel โรงแรมชื่อดังในปัตตานี ให้เก็บภาพบรรยากาศสวย ๆ อีกด้วย








จากนั้นคณะเดินทางต่อไปยังตลาดกิมหยง หาดใหญ่ นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะต้องแวะมาจับจ่ายซื้อของฝาก โดยเฉพาะ ผลไม้ ถั่วหลากชนิด ไก่ทอดหาดใหญ่ ผ้าปาเต๊ะที่ราคาไม่แพง มาตลาดกิมหยงก็ถือว่ามาถึงหาดใหญ่หล่ะ 





งานเลี้ยงต้องมีวันเลิกลา ได้เวลาเดินทางกลับ กทม คณะเราก็นั่งเครื่อง จากสนามบินหาดใหญ่ มายังสนามบินดอนเมือง หมดเวลาท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในครั้งนี้แล้ว คณะเราได้พบได้เห็นได้เจออะไรอีกมากมาย ที่เราอยากให้ทุกคนได้ไปสัมผัสและไปเยือน 3 จังหวัดชายแดนใต้เหมือนกับคณะเรา เมื่อได้ไปแล้วก็อยากกลับมาอีก สนุกสนาน อิ่มเอมใจ ประทับใจสุด ๆ ปลอดภัย ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด คนใน 3 ชายแดนใต้ รอทุกคนไปสัมผัส ไปเปิดประสบการณ์ใหม่ในการเที่ยว 3 ชายแดนใต้กันอยู่นะ หวังว่าผู้อ่านคงอยากจะไปเยือนกันแล้วใช่มั้ยล่ะ

ขอขอบพระคุณผู้ให้ความอนุเคราะห์ทุกๆท่านดังนี้

ท่านพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชาการจังหวัดปัตตานี  


พันเอกชลัช ศรีวิเชียร รองเสนาธิการ กอ.รมน.


คุณนารีนาถ มั่นใจเกษตร (คุณนับ)  เจ้าของร้านอาหารมายาวีร์/บ้านสวนมายาวีร์


คุณหนึ่งฤทัย อับดุลบุตร (คุณอูม) เหลนเจ้าเมืองยะหริ่ง เจ้าของร้านอาหารข้าวผัดปูพี่อูม


คุณธาราทิพย์ ปาตัน (ซูอ้วน) เจ้าของร้าน ZU UAN


GISBH “IKhwan”



ดร.รชต ลาตีฟี AMC Group


คุณนาริฐา  จ้อยเอม  ผู้สร้างภาพ


บริษัท 9 หน้าดี จำกัด การตลาดและประชาสัมพันธ์
โดย คุณชดา บูรณะพิมพ์ และ คุณรุ่งนภา ปักษี ผู้บริหาร และผู้จัดโครงการ





No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad