กรมควบคุมโรค ย้ำรีบกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำและป้องกันยุงลายกัด ลดความเสี่ยงโรคไข้เลือดออก และป้องกันทารกในครรภ์ศีรษะเล็กแต่กำเนิด จากไวรัสซิกาที่มากับยุงลาย - Go Ahead News

Go Ahead News

ก้าวไปข้างหน้ากับเรา

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Sunday, August 27, 2023

กรมควบคุมโรค ย้ำรีบกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำและป้องกันยุงลายกัด ลดความเสี่ยงโรคไข้เลือดออก และป้องกันทารกในครรภ์ศีรษะเล็กแต่กำเนิด จากไวรัสซิกาที่มากับยุงลาย






กรมควบคุมโรค เตือนขณะนี้ยังมีฝนตกเกือบทุกวัน และเป็นระยะการระบาดของโรคไข้เลือดออก เนื่องจากน้ำฝน  ไปตกค้างอยู่ตามภาชนะที่อาจมีไข่ยุงลายที่เป็นพาหะนำโรค แนะนำรีบกำจัดภาชนะที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์  เพื่อลดความเสี่ยงป่วยโรคไข้เลือดออก ไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา โดยเฉพาะโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ที่ทำให้ทารกในท้องของหญิงตั้งครรภ์พิการ อาจแท้งได้ หรือคลอดออกมาเป็นทารกที่มีศีรษะเล็กและมีพัฒนาการล่าช้า


27 สิงหาคม 2566  นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในระยะนี้เป็นฤดูฝน มีฝนตกเกือบทุกวัน ส่งผลให้น้ำฝนที่ตกลงมาไปตกค้างอยู่ตามภาชนะที่อาจมีไข่ยุงลายอยู่เดิม หรือยุงวางไข่ใหม่ในภาชนะน้ำขังที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เพิ่มจำนวนยุงลายที่เป็นพาหะนำโรค เช่น โรคไข้เลือดออก โรคปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ซึ่งเคยมีการระบาดในหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยอยู่ระยะหนึ่งแล้วเงียบหายไป แต่กลับมามีรายงานการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยโรคนี้อีกครั้งในปีนี้ ปัจจุบันพบผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสซิกาแล้ว 266 ราย พื้นที่ที่มีการรายงานผู้ป่วย 24 จังหวัด โดยระยะ 4 สัปดาห์ล่าสุดพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นสูงที่จังหวัดจันทบุรี (37 ราย) และเพชรบูรณ์ (23 ราย) โดยหากผู้ติดเชื้อไวรัสซิกาเป็นหญิงตั้งครรภ์ จะส่งผลเสียต่อทารกในครรภ์ ทำให้มีศีรษะเล็ก และมีความพิการแต่กำเนิด ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษา แต่สามารถป้องกันและรับการตรวจวินิจฉัยได้


นายแพทย์ธเรศ กล่าวต่อว่า วิธีที่ดีที่สุดของการป้องกันโรคติดเชื้อจากยุงลายทั้ง 3 โรคนี้คือ ป้องกันอย่าให้ถูกยุงลายกัด แม้ทำได้ยาก ด้วยประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตร้อนชื้น มีพื้นที่และภูมิอากาศเหมาะสมกับการเจริญพันธุ์ของยุงลาย การลดประชากรยุงลายต้องมีความพร้อมเพรียงกันในระดับชุมชน โดยการจัดการสิ่งแวดล้อมไม่ให้ยุงลายมีที่วางไข่ ยุงลายชอบวางไข่ในน้ำใสนิ่งตามภาชนะกักเก็บน้ำชนิดต่างๆ รวมไปถึงขยะเศษภาชนะ กล่องโฟมที่ถูกทิ้ง จานรองกระถางต้นไม้ หรือกาบใบไม้ใหญ่ๆ ยุงลายไม่ชอบน้ำสกปรกเน่าเหม็น จึงเป็นยุงที่อยู่ใกล้ตัวเราในบริเวณบ้านมากที่สุด หากประชาชน    พบเจอภาชนะขังน้ำดังกล่าว สังเกตว่ามีลูกน้ำอยู่ในนั้นด้วยหรือไม่ หากพบก็ให้รีบกำจัดเททิ้งบนดิน เพราะหากปล่อยทิ้งไว้อีกไม่เกิน 7-10 วัน ลูกน้ำเหล่านั้นจะกลายเป็นยุงตัวเต็มวัยมากัดผู้คนได้ นอกจากนี้ มีวิธีป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัดอีกหลายวิธีซึ่งประชาชนเลือกได้ เช่น นอนในมุ้ง จุดหรือทายากันยุง ติดตั้งมุ้งลวดกันยุงเข้าบ้าน รวมทั้งปฏิบัติตามคำแนะนำของ     กรมควบคุมโรค คือ “3 เก็บป้องกัน 3 โรค” 1.เก็บบ้าน ให้ปลอดโปร่ง ไม่ให้ยุงลายเกาะพัก  2.เก็บขยะ เศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และ  3.เก็บน้ำ ปิดภาชนะให้มิดชิดเพื่อไม่ให้ยุงลายลงไปวางไข่ หรือปล่อยปลากินลูกน้ำก็เป็นอีกวิธีหนึ่ง จะสามารถป้องกันได้ทั้ง 3 โรค คือ  โรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา


นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มว่า โรคติดเชื้อไวรัสซิกา มีรายงานพบผู้ป่วยครั้งแรกที่ประเทศยูกันดา ในปี 2490 ที่ผ่านมาเคยมีการระบาดใหญ่ในหลายประเทศเมื่อปี 2559 ในครั้งนั้น พบหญิงตั้งครรภ์คลอดทารกพิการที่มีศีรษะเล็กแต่กำเนิด และพัฒนาการล่าช้า เช่น การระบาดที่ประเทศบราซิลพบทารกแรกเกิดศีรษะเล็กหลายพันคน ส่วนสถานการณ์ในประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสซิกาประปรายเมื่อประมาณสิบปีก่อน โดยผู้ป่วยจะเริ่ม มีไข้ ผื่นแดงตามผิวหนัง ปวดศีรษะ เยื่อบุตาแดงอักเสบ ปวดกล้ามเนื้อและศีรษะ หลังจากถูกยุงลายที่มีเชื้อไวรัสซิกากัดประมาณ 3-14 วัน แม้ส่วนใหญ่อาการจะไม่รุนแรงแต่อาจจะพบรายที่มีอาการรุนแรงภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาท เช่น กลุ่มอาการอักเสบของเส้นประสาท GBS (Guillain-Barre Syndrome) 


โรคนี้มีหญิงตั้งครรภ์เป็นกลุ่มเสี่ยงสำคัญ เนื่องจากเชื้อไวรัสซิกาจากมารดาที่ป่วย สามารถส่งต่อไปยังทารกในครรภ์ และไวรัสยังทำให้ทารกมีศีรษะเล็ก (microcephaly) จากสมองไม่เติบโต เกิดความพิการแต่กำเนิด และพัฒนาการล่าช้า  บางรายอาจมีภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ เช่น แท้ง ดังนั้นหญิงตั้งครรภ์ที่มีอาการไข้ ออกผื่น ตาแดง ปวดข้อ ให้สงสัยว่าเกิดจากการติดเชื้อไวรัสซิกา และรีบพบแพทย์เพื่อขอรับการตรวจวินิจฉัยโรคทันที


ทั้งนี้ ขอสื่อสารให้ประชาชนช่วยกันลดความเสี่ยงของโรคนี้ด้วยการป้องกันยุงลายกัดร่วมกันกับการกำจัดยุงตัวแก่และทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ขอให้ตระหนักถึงความเสี่ยงอยู่เสมอโดยเฉพาะคู่ครองที่วางแผนจะมีบุตรต้องไม่ละเลยการเตรียมตัวให้พร้อมในด้านเคหะสถานที่ถูกสุขลักษณะไม่ให้มียุงลาย ซึ่งหญิงที่เริ่มตั้งครรภ์ยิ่งต้องมีความตระหนักในการป้องกันไม่ให้ถูกยุงลายกัด โดยยุงลายสามารถพบได้ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ กินเลือดเวลากลางวันมากกว่ากลางคืน  หากใส่ใจป้องกันยุงกัดและหมั่นสังเกตกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ก็จะปลอดภัยมากขึ้น หากสงสัยสอบสามารถถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422

*************************************

ข้อมูลจาก : กองโรคติดต่อนำโดยแมลง/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

วันที่ 27 สิงหาคม 2566


No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad