กรมควบคุมโรค เผยสถานการณ์โรคไข้เลือดออกยังน่าห่วง เน้นย้ำมาตรการป้องกันและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เป็นไข้สูงอย่าซื้อยากินเองอาจเสี่ยงเสียชีวิต - Go Ahead News

Go Ahead News

ก้าวไปข้างหน้ากับเรา

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Tuesday, August 22, 2023

กรมควบคุมโรค เผยสถานการณ์โรคไข้เลือดออกยังน่าห่วง เน้นย้ำมาตรการป้องกันและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เป็นไข้สูงอย่าซื้อยากินเองอาจเสี่ยงเสียชีวิต

 






กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เผยสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในระยะนี้ มีแนวโน้มพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น อย่างต่อเนื่องในช่วงฤดูฝน มีภาชนะและแหล่งน้ำขังที่ยุงลายวางไข่เพิ่มขึ้น จึงขอเน้นย้ำให้ชุมชนร่วมกันปฏิบัติตามมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค หากมีอาการป่วยไข้สูงเกิน 2 วัน สงสัยไข้เลือดออก ต้องไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรคให้แน่ชัด อย่าซื้อยากินเอง อาจจะเสี่ยงต่อการเสียชีวิต

    

วันนี้ (22 สิงหาคม 2566) นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงนี้การระบาดของโรคไข้เลือดออกในบางพื้นที่มีสถานการณ์ลดลงซึ่งเป็นสัญญาณที่ดี แต่บางพื้นที่ก็ยังคงมีการระบาด ซึ่งกรมควบคุมโรคได้ติดตามการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง และเปิดประชุมศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ (EOC) ร่วมกับเครือข่ายส่วนกลางและภูมิภาคทุกสัปดาห์ โดยย้ำให้ดำเนินการกำจัดลูกน้ำยุงลายให้ครอบคลุมในพื้นที่ 7 ร. ได้แก่ 1.โรงเรือน (บ้าน/อาคาร) 2.โรงเรียน/สถานศึกษา 3.โรงพยาบาล 4.โรงธรรม (วัด/มัสยิด/โบสถ์) 5.โรงแรม/รีสอร์ท 6.โรงงาน และ    7.ส่วนราชการ/องค์กรเอกชน

   

โรคไข้เลือดออกสามารถป้องกันได้โดยหลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกยุงกัด ควรสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด นอนกางมุ้งหรือห้องที่มีมุ้งลวด ทายากันยุงหรือจุดยาไล่ยุง รวมถึงการจัดการสิ่งแวดล้อมไม่ให้ยุงลายมาวางไข่ การกำจัดไข่หรือลูกน้ำในภาชนะเพื่อตัดวงจรไม่ให้ลูกน้ำกลายเป็นยุงตัวเต็มวัย เป็นต้น แต่ถ้าหากถูกยุงกัดแล้วมีอาการป่วยไข้ ต้องสังเกตอาการตนเองให้ดี เพราะช่วงนี้นอกจากมีไข้เลือดออกระบาดแล้วก็ยังมีไข้หวัดใหญ่ระบาดอีกด้วย ซึ่งอาจป่วยร่วมกันได้ทั้งสองโรคอาการเด่นชัดของไข้เลือดออกที่แตกต่างจากไข้หวัดใหญ่ในระยะต้นๆ คือ ไข้เลือดออกจะมีไข้สูง  อย่างรวดเร็วเฉียบพลัน ไข้ลดช้า ไม่มีน้ำมูก ไม่ไอ ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโรคซึ่งปัจจุบันมีชุดตรวจไข้เลือดออกเด็งกี่ (NS1) ทำให้รู้ผลเร็วและรักษาได้ทันท่วงที 

   

นายแพทย์ธเรศ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตั้งแต่ต้นปี 2566 จนถึงปัจจุบัน (16 สิงหาคม 2566) พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกแล้วรวม 65,552 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 99.05 ต่อประชากรแสนคน เพิ่มขึ้นสัปดาห์ละกว่า 5,000 ราย ยิ่งมีผู้ป่วยมากก็ยิ่งมีผู้เสียชีวิตมาก ถึงขณะนี้มีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้แล้ว 58 ราย จำนวนผู้ป่วยปี 2566 มากกว่าปี 2565  ณ ช่วงเวลาเดียวกันถึง 3 เท่า ซึ่งเป็นวงจรของการเกิดโรคที่มักจะระบาดมากขึ้นในปีถัดจากปีที่ระบาดน้อย เนื่องจากภูมิคุ้มกันทางธรรมชาติของประชากรโดยรวมลดลง หรือมีลักษณะการระบาดปีเว้นปี หรือปีเว้น 2 ปี โดยพบผู้ป่วยได้ทุกกลุ่มอายุและอาชีพ จังหวัดที่พบอัตราป่วยสูงที่สุดใน 4 สัปดาห์ล่าสุด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย น่าน จันทบุรี ตราด และระยอง ตามลำดับ

          

นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเสริมว่า ช่วงนี้หลายพื้นที่มีโอกาสพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีฝนตก ทำให้มีน้ำขังตามภาชนะต่างๆ ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย เป็นปัจจัยสนับสนุนให้เกิดการระบาดของโรคได้ กรมควบคุมโรค จึงขอความร่วมมือประชาชนให้ช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ตามมาตรการ 3 เก็บป้องกัน 3 โรค ได้แก่ เก็บบ้าน ให้สะอาดไม่ให้ยุงลายเข้ามาเกาะพัก เก็บภาชนะกักเก็บน้ำ ให้มิดชิดเพื่อป้องกันยุงลายลงไปวางไข่ เก็บขยะ ภายในบริเวณบ้านและโรงเรียน ให้เรียบร้อยไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย จะป้องกันโรคติดต่อนำโดยยุงลายได้ 3 โรคคือโรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัด โรงเรียน ชุมชน ที่พบลูกน้ำยุงลายได้มาก และสถานที่ที่พบผู้ป่วยไข้เลือดออก


ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงกัดโดยการทายากันยุง หรือนอนในมุ้ง และหากประชาชน  มีอาการไข้สูงลอย ร่วมกับอาการปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา หน้าแดง กระหายน้ำ หรือมีจุดเลือดออกที่ลำตัว และแขน ขา ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง โดยเฉพาะยาลดไข้ในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน ไดโครฟีแนก แอสไพริน รวมถึงยาชุด มีผลทำให้เลือดออกในทางเดินอาหารและยากต่อการรักษา เสี่ยงต่อการเสียชีวิต หรือรับประทานยาหรือเช็ดตัวแล้วไข้ไม่ลด หรือลดแล้วไข้กลับมาสูงอีก ควรรีบไปพบแพทย์ ซึ่งโรคไข้เลือดออกหากได้รับการรักษาล่าช้า จะเสี่ยงต่อการเสียชีวิต หากสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422


*************************

ข้อมูลจาก : กองโรคติดต่อนำโดยแมลง/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

วันที่ 22 สิงหาคม 2566


No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad