พช. สานสัมพันธ์ไทย - กัมพูชาส่งมอบโครงการชุมชนต้นแบบเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ตะโบกวิน-บันเตียเมียนเจย) ราชอาณาจักรกัมพูชา ปีที่ 3 - Go Ahead News

Go Ahead News

ก้าวไปข้างหน้ากับเรา

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Wednesday, August 23, 2023

พช. สานสัมพันธ์ไทย - กัมพูชาส่งมอบโครงการชุมชนต้นแบบเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ตะโบกวิน-บันเตียเมียนเจย) ราชอาณาจักรกัมพูชา ปีที่ 3

 












เมื่อวันพุธที่ 23 สิงหาคม 256 เวลา 13.30 น. ณ บ้านตะโบกวิน ตำบลมาลัย อำเภอมาลัย จังหวัดบันเตียเมียนเจย ราชอาณาจักรกัมพูชา 


นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เป็นประธานในพิธีส่งมอบโครงการชุมชนต้นแบบเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (ตะโบกวิน-บันเตียเมียนเจย) ราชอาณาจักรกัมพูชา ปีที่ 3 โดยมี นายงอ เมงจรวน รองผู้ว่าราชการจังหวัด บันเตียเมียนเจย ราชอาณาจักรกัมพูชา กล่าวต้อนรับ และ นายเชาวเนตร ยิ้มประเสริฐ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว กล่าวรายงาน นายวัฒนวิทย์ คชเสนี รองอธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวขอบคุณคณะทำงานไทย โดยมีคณะผู้บริหารฝ่ายไทยประกอบด้วย นายนพรัตน์ ธำรงทรัพย์ ผู้อำนวยการกองแผนงาน กรมการพัฒนาชุมชน นายไพโรจน์ โสภาพร เลขานุการกรม นายสุชาติ ภักพาณิชย์ พัฒนาการจังหวัดสระแก้ว นายจักรพงษ์ พันธ์โชติ นายอำเภออรัญประเทศ และ ผช.ดร ชัยวุฒิ เทโพ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และผู้บริหารฝ่ายอาณาจักรกัมพูชา นายเจีย เซงอาน ปลัดจังหวัดบันเตียเมียนเจย นายเซา วา หัวหน้าสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดบันเตียเมียนเจย นายซวน โซ๊ะวันดา และนางแอก โซว๊ะเพียรัต รองหัวหน้าสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดบันเตียเมียนเจย เข้าร่วมกิจกรรม


นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ กล่าวว่า โครงการชุมชนต้นแบบเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (ตะโบกวิน-บันเตียเมียนเจย) มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาให้ประชาชนมีศักยภาพในตนเอง ให้สามารถร่วมกันแก้ปัญหา ขจัดความยากจนและสามารถพึ่งตนเองได้ โดยเฉพาะการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ ที่ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและทรัพยากรที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุดและนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวทางในการพัฒนา มีระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี (2561 - 2562 และ 2566) ซึ่งกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ให้การสนับสนุนงบประมาณสำหรับดำเนินการ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่ม/ผู้นำองค์กรในการบริหารจัดการตนเอง ตามแนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง รวมถึงการพัฒนาหมู่บ้านตามหลักการพัฒนาชุมชน ให้เป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ระดับพออยู่ พอกิน และเพื่อเป็นแหล่งศึกษาดูงาน หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง แก่ชาวกัมพูชา


กิจกรรมการดำเนินงานในปีที่ 3 ประกอบด้วย (1) การอบรมเพิ่มทักษะการตัดเย็บเสื้อผ้า กลุ่มเป้าหมาย 16 คน (2) การส่งเสริมการปลูกผักสวนครัวสร้างความมั่นคงทางอาหาร กลุ่มเป้าหมาย 58 คน 

ปรากฏผลจากการดำเนินงานโครงการโดยสรุป ดังนี้ 1. ผู้เข้าร่วมกิจกรรมอบรมเพิ่มทักษะการตัดเย็บเสื้อผ้า มีทักษะและมีความสามารถในการตัดเย็บเสื้อผ้าเบื้องต้น เกิดอาชีพทางเลือก ประชาชนในชุมชนมีอาชีพเสริม ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการดำรงชีวิต 2. ผู้เข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการปลูกผักสวนครัวสร้างความมั่นคงทางอาหารมีความรู้ความเข้าใจในหลักปฏิบัติการปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร เน้นการพึ่งตนเอง ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สู่การปฏิบัติจนเป็นวิถีชีวิต เพื่อที่จะนำไปสู่การรวมกลุ่มแปรรูป ผลผลิต วิสาหกิจชุมชน สร้างชุมชนสีเขียว ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีทักษะในการปลูกผัก แบบคีย์โฮล ซึ่งเป็นการปลูกผักที่ท่อ ทำปุ๋ยหมักอยู่ในแปลงเพื่อใส่เศษอาหาร เป็นการบริหารจัดการขยะ เพื่อลดโลกร้อน รวมถึงส่งเสริมให้ชุมชนมีความรักความสามัคคี และมีความเกื้อกูล แบ่งปันกัน 


ผลการดำเนินงานด้านการพัฒนาหมู่บ้านชุมชน 1. ประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมต่างๆมากขึ้น เช่น การรวมกลุ่มประกอบอาชีพ กิจกรรมการพัฒนาหมู่บ้านชุมชนและการรักษาสาธารณประโยชน์ร่วมกัน 2. คณะทำงานเจ้าหน้าที่กัมพูชามีความรู้ความเข้าใจบทบาทหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุนและประสานการดำเนินงานการพัฒนาชุมชน 3. เป็นหมู่บ้านชุมชนแหล่งเรียนรู้ต้นแบบในการศึกษาดูงานของประเทศของประชาชนกัมพูชา ในการดำรงชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ผลการดำเนินงานด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ประชาชนในชุมชนมีอาชีพเสริมลดรายจ่ายเพิ่มรายได้มีคุณภาพชีวิตที่ดียึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการดำรงชีวิต 


ผลการดำเนินงานด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ 1. ประชาชนโดยเฉพาะพื้นที่บริเวณชายแดน ไทย-กัมพูชา ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประเพณีวัฒนธรรม ทำให้มีความสัมพันธ์ต่อกันมากยิ่งขึ้น 2. เจ้าหน้าที่ชายแดนไทย-กัมพูชา ของทั้ง 2 ประเทศ ได้มีการประสานการดำเนินงานทำให้มีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน


นายงอ เมงจรวน รองผู้ว่าราชการจังหวัด บันเตียเมียนเจย ราชอาณาจักรกัมพูชา กล่าวว่า โครงการชุมชนต้นแบบเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (บ้านตะโบกวินจังหวัดบันเตียเมียนเจย) ซึ่งได้ดำเนินการมาเป็นระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา กรมความร่วมมือระหว่างประเทศร่วมกับกรมการพัฒนาชุมชน ได้สานต่อการดำเนินกิจกรรมภายใต้โครงการปีที่ 3 ซึ่งเป็นกิจกรรมของปีสุดท้าย ได้แก่ 1) การจัดอบรมเพิ่มทักษะการตัดเย็บเสื้อผ้า และ 2) การอบรมส่งเสริมการปลูกผักสวนครัว แปรรูปเลี้ยงสัตว์ความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งจัดโดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสระแก้ว ระหว่างวันที่ 10-22 สิงหาคม 2566 โดยการดำเนินกิจกรรมดังกล่าวจะช่วยสร้างอาชีพทางเลือกและรายได้เสริมให้แก่ชาวบ้านและเกษตรกรบ้านตะโบกวินต่อไปในอนาคต ซึ่งผู้นำและชาวบ้านตะโบกวิน จะได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากศูนย์เรียนรู้ ซึ่งเป็นสถานที่เชื่อมความสามัคคี และสามารถนำองค์ความรู้ด้านหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่ได้รับจากการฝึกอบรมไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ตั้งแต่ระดับครัวเรือนจนถึงระดับชุมชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด และสามารถแก้ไขปัญหาของชุมชนได้ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนเอง รวมทั้งเป็นชุมชนต้นแบบให้กับหมู่บ้านและชุมชนอื่น ๆ ได้ศึกษาเรียนรู้และเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป


นายวัฒนวิทย์ คชเสนี รองอธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ขอถือโอกาสนี้แสดงความขอบคุณจังหวัดสระแก้ว จังหวัดบันเตียเมียเจย ที่ได้ร่วมกันสนับสนุนการดำเนินงานโครงการฯ ซึ่งรวมถึงหน่วยงานราชการของฝ่ายไทยและฝ่ายกัมพูชาที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมการพัฒนาชุมชน สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสระแก้ว สำนักงานประสานงานชายแดนไทย -กัมพูชา กระทรวงพัฒนาชนบทของกัมพูชา ตลอดจนผู้นำและชาวบ้านตะโบกวิน ที่ให้ความร่วมมือในการมีส่วนร่วม ดำเนินโครงการในช่วงที่ผ่านมา แม้ว่าสถานการณ์โควิด 19 จะทำให้ต้องชะลอการดำเนินงานและล่าช้าไปบ้าง แต่ผลสำเร็จในวันนี้ ได้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นและตั้งใจของทั้งสองฝ่าย ที่จะให้มีการดำเนินการบรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ ซึ่งโครงการชุมชนต้นแบบและการพัฒนาอย่างยั่งยืน บ้านตะโบกวิน จังหวัดบันเตียเมียนเจย ถือว่าเป็นโครงการแห่งที่ 3 ต่อจากโครงการพัฒนาหมู่บ้านนำร่องพัฒนาคุณภาพชีวิตอยู่ดีมีสุข บนถนนหมายเลข 67 (สะงำ - อันลองเวง - เสียมราฐ) ดำเนินงานระหว่างปี 2549-2559 (2006  - 2016) และโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงแบบมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน บนถนนหมายเลข 48 (เกาะกง - สะแรอัมเบิล) ดำเนินงานระหว่างปี 2550-2559 (2007 - 2016) โดยมีกรมการพัฒนาชุมชนเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานและสนับสนุนการขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว นอกจากนี้ประเทศไทยโดยกระทรวงการต่างประเทศและกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และเสริมสร้างศักยภาพในการดำเนินงาน โดยร่วมมือกับหน่วยงานไทยและกัมพูชาในสาขาการพัฒนาด้านอื่นๆ ระหว่างจังหวัดสระแก้ว - จังหวัดบันเตียเมียนเจย ภายใต้กรอบความร่วมมือทางด้านวิชาการไทย - กัมพูชา ได้แก่ ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาไทย - กัมพูชาสาขาสาธารณสุข ระยะที่ 2 โครงการสร้างความตระหนักและเตรียมความพร้อมสำหรับโรคติดต่อและโรคอุบัติใหม่ตามแนวชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน โครงการจัดตั้งศูนย์แลกรับเหยื่อการค้ามนุษย์และกลุ่มเสี่ยง 


"การดำเนินงานโครงการนี้ได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วนทั้งของไทยและกัมพูชา จึงทำให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จด้วยดีและผู้เข้าร่วมโครงการมีความพึงพอใจเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตามการทำงานตามโครงการจะเกิดความยั่งยืนได้ต้องเกิดจากคนในชุมชนร่วมมือกันพัฒนาชุมชนของตนเองให้เป็นชุมชนน่าอยู่ ประชาชนมีอาชีพที่มั่นคง มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน หากชุมชนสามารถสานต่อโครงการและพัฒนาชุมชนให้ดียิ่งขึ้นไปก็มั่นใจว่าที่นี่จะเป็นชุมชนที่มีความเข้มแข็งพึ่งตนเองได้ และเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับชุมชนอื่น ๆ ที่ได้มาศึกษาเรียนรู้แนวปฏิบัติที่ประสบผลสำเร็จของชุมชนนี้ จึงขอให้ทุกคนร่วมมือร่วมใจกันพัฒนาชุมชนของตนเองตามแนวทางที่ได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับฝ่ายไทย นำมาปรับใช้ให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนและต่อเนื่องต่อไป หากฝ่ายกัมพูชามีความประสงค์ที่จะให้ประเทศไทยสนับสนุนด้านวิชาการ ก็มีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี่ขอขอบคุณสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสระแก้ว ที่เป็นหน่วยดำเนินงานในพื้นที่ และขอบคุณความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศที่ให้การสนับสนุนงบประมาณในการทำงานตามโครงการตลอดมา" นายอรรษิษฐ์ กล่าวทิ้งท้าย


No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad