อำเภอเชียงของ ขับเคลื่อนกิจกรรมการยกระดับเพิ่มมูลค่าและพัฒนาสินค้าชุมชนตำบลริมโขงเพื่อการท่องเที่ยวและช่องทางการตลาด โครงการส่งเสริมทักษะและศักยภาพประชาชนเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืนผ่านอัตลักษณ์ชุมชน ประเดิมด้วยกิจกรรมพัฒนาความเป็นอัตลักษณ์ 2 ชาติพันธุ์ (ไทลื้อ – ม้ง) ของลายผ้าสู่สากล โดย นายวิรุฬห์ สิทธิวงศ์ นายอำเภอเชียงของ เป็นประธานในกิจกรรม ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เชียงราย กลุ่มผ้าทอไทลื้อบ้านหาดบ้าย – หาดทรายทอง กลุ่มผ้าปักชาติพันธุ์ม้งบ้านกิ่วกาญจน์ ตำบลริมโขง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย และภาคีที่มีความสนใจ จำนวน 60 คน ร่วมในกิจกรรมดังกล่าว ณ อาคารศูนย์ผ้าทอไทลื้อ บ้านหาดบ้าย - หาดทรายทอง ตำบลริมโขง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย
กิจกรรมในครั้งนี้ เน้นไปที่การส่งเสริมคุณค่าอัตลักษณ์วัฒนธรรมพื้นถิ่น ความหลากหลายงดงามของชาติพันธุ์ ที่แสดงออกผ่านภูมิปัญญาการทอ ปัก เย็บ ที่สะท้อนวิถีชีวิต จนสามารถสร้างอาชีพ รายได้ ชื่อเสียงมาสู่ชุมชนได้เป็นอย่างดี โดยตลอดห้วงของการดำเนินกิจกรรมนี้จะเป็นไปในรูปแบบถ่ายทอดองค์ความรู้ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สลับกับการลงมือปฏิบัติจริงตั้งแต่กระบวนการได้มาซึ่งผ้า การย้อมสีจากวัตถุดิบธรรมชาติ ไปจนถึงการพัฒนาการออกแบบให้เกิดชิ้นงานที่ลงตัว ที่ทุกกระบวนการต้องผ่านการใช้ฝีมือทั้งสิ้น จนเมื่อเกิดผลิตภัณฑ์สามารถเล่าเรื่อง (Story Telling) ที่มีที่มาที่ไป มีจุดเริ่มต้น และ จุดเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน เพื่อผูกความสัมพันธ์ระหว่างเรื่องราว และสร้างมูลค่าเพิ่มได้ ดังนั้นจึงนำจุดเด่นเชิงฝีมือ ทั้งจากการถักทอผ้าของชาติพันธุ์ไทลื้อ และฝีปักของชาติพันธุ์ม้ง มาสู่การประยุกต์ให้เข้ากันบน “ผ้าผืนเดียวกัน” ก่อเกิดลวดลายใหม่ประจำถิ่นตำบลริมโขง อำเภอเชียงของ และต่อยอดไปสู่ผลิตภัณฑ์รูปแบบต่าง ๆ รวมถึงการท่องเที่ยวชุมชน สร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานรากได้อีกทางหนึ่ง โดยหากผลของโครงการนี้เป็นไปในทิศทางที่น่าพอใจ อำเภอเชียงของ มีแผนในการส่งเสริมให้พื้นที่เป็นแหล่งเพาะปลูกฮ่อม และคราม หรือพืชที่ให้สีในการย้อมผ้า เพื่อสร้างลดต้นทุนในการผลิต และสร้างคุณค่า รายได้หมุนเวียนให้เกิดกับพื้นที่ เรียกได้ว่าเป็นการต่อยอดและสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ
โดยกิจกรรมนี้ ถือเป็นหนึ่งในการนำร่องจากอีกหลากหลายกิจกรรมภายใต้โครงการเดียวกันนี้ ตามแนวทางการขับเคลื่อนโครงการ “การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG Economy Model) และกิจกรรมการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน ซึ่งอำเภอเชียงของ ได้กำหนดจุดยุทธศาสตร์พื้นที่ต้นแบบ Kick off “เขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่” เพื่อขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัย ลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน นำร่องในพื้นที่ 2 ตำบล ได้แก่ จุดที่ 1 พื้นที่ขยายผลตามโครงการศูนย์ศึกษาพัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้อนุรักษ์ดินน้ำป่า เฉลิมพระเกียรติวัดเทพนิมิตสุดเขตสยาม เพื่อเป็นจุดเรียนรู้ด้านการอนุรักษ์ ดิน น้ำ ป่า ตามศาสตร์พระราชา และส่งเสริมพัฒนาอาชีพ สร้างสุขให้แก่ประชาชนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และ จุดที่ 2 ตำบลบุญเรือง ที่เด่นในการเป็นพื้นที่ต้นแบบความสำเร็จการปลูกต้นไผ่ซางหม่น โดยอำเภอเชียงของ ได้ยึดแนวทางการพัฒนา “คน” พัฒนา “พื้นที่” ภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยรูปธรรมที่เกิดขึ้น ต้องสามารถขยายผลเชื่อมร้อยกับประชาชนทุกกลุ่ม ทุกพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม
#ChangeforGood #CFG #Chiangrai #กระทรวงมหาดไทย #กรมการพัฒนาชุมชน #CDD #เขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ #SEDZ #BCG #เชียงของ #ริมโขง
No comments:
Post a Comment