ช. ชักชวนคณะสื่อมวลชนกว่า 20 ชีวิต แลกเปลี่ยนเรียนรู้จาก “จ.พังงา” พื้นที่รูปธรรมการในการใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน “ออกแบบอนาคตของตัวเอง” ผ่านกระบวนการ “สมัชชาพังงาแห่งความสุข” ที่ช่วยเปิดพื้นที่กลางเคลียร์ข้อพิพาท ลดบรรยากาศการเผชิญหน้ากับภาครัฐ และสร้างอำนาจการต่อรองให้ประชาชน พร้อมเยี่ยมชมการพลิกฟื้น “ชุมชนบ้านรมณีย์” จากปัญหาหนี้สิน สู่การจัดการตนเองเพื่อปลดเปลื้องข้อกำจัดทางการเงิน ยกระดับสู่การตั้งกองทุน-สร้างอาชีพ อย่างยั่งยืน
สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ชักชวนสื่อมวลชนหลากหลายสำนักกว่า 20 ชีวิต เข้าร่วมกิจกรรมสื่อมวลชนสัญจร (Press Tour) “เขียนกติกาชุมชน เขียนนโยบายประชาชน เขียนอนาคตของตัวเอง” ณ จังหวัดพังงา เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2565 เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถึงแนวทางการจัดการตนเอง ตลอดจนการสร้างความเข้มแข็งของชาวพังงาผ่านกระบวนการ “สมัชชาพังงาแห่งความสุข” พร้อมทั้งเยี่ยมชมรูปธรรมความสำเร็จของ สถาบันการเงินชุมชนบ้านรมณีย์ อ.กะปง จ.พังงา ซึ่งเป็นต้นแบบของการแก้ปัญหาวิกฤตทางการเงิน หนี้สิน ที่ดำเนินการมาอย่างยั่งยืนเกือบ 20 ปี
นายไมตรี จงไกรจักร์ ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท เปิดเผยในเวทีเสวนา “พังงาแห่งความสุข : ขับเคลื่อนจังหวัดด้วยนโยบายประชาชน” ตอนหนึ่งว่า ในอดีต จ.พังงา มีปัญหาหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ดิน ยาเสพติด สุขภาพ หนี้สินครัวเรือน ฯลฯ โดยขณะนั้นภาคประชาสังคมที่เข้ามาทำงานในพื้นที่ จ.พังงา มีความสัมพันธ์ระหว่างกันที่ดี แต่การทำงานกลับยังแยกส่วนต่างคนต่างทำ ขาดระบบการเชื่อมโยงที่ชัดเจน ที่สำคัญคือไม่ได้ทำงานโดยใช้โจทย์จากพื้นที่เป็นตัวตั้ง สุดท้ายแล้วก็ไม่เกิดความยั่งยืน
นายไมตรี กล่าวว่า จุดเปลี่ยนสำคัญของการรวมพลังภาคประชาชนใน จ.พังงา เกิดขึ้นช่วงปี 2547 หลังเหตุการณ์สึนามิ โดยขณะนั้นมีปัญหารุมเร้าหลากหลายเรื่อง ทั้งการช่วยเหลือผู้ประสบภัย งานด้านที่อยู่อาศัย รวมไปถึงสิทธิชุมชนต่างๆ จึงเกิดกระบวนการทำข้อมูล จัดตั้งพื้นที่กลางเพื่อแลกเปลี่ยนขับเคลื่อนภารกิจร่วมกัน จนในปี 2552 ได้เกิดการหลอมรวมความเป็นทีม และค้นหาเป้าหมายการทำงานร่วมกันบนวาทกรรม “พังงาแห่งความสุข” ซึ่งมีที่มาจากผลสำรวจในช่วงดังกล่าว ที่พบว่าพังงาเป็นจังหวัดที่ครองแชมป์ความสุขมากที่สุดต่อเนื่องกัน 2 ปี
จนกระทั่งในปี 2556 มีการจัด “สมัชชาพังงาแห่งความสุข” ขึ้นเป็นครั้งแรก เป็นพื้นที่กลางที่ชักชวนทุกภาคส่วนเข้ามาออกแบบอนาคตและภาพฝัน จ.พังงาร่วมกัน และได้เชิญ ผวจ.พังงา เข้ามาร่วมเพื่อให้รับทราบถึงความต้องการประชาชนในพื้นที่ จากนั้นมีการต่อยอดไปสู่การร่างยุทธศาสตร์ 10 ข้อ และถูกหลอมรวมเข้าไปเป็น “แผนพัฒนาของจังหวัดพังงา” ในเวลาต่อมา
“ยุทธศาสตร์พังงาแห่งความสุข 10 ข้อ อาจจะไม่สามารถบอกได้ว่าทุกคนในพังงาเป็นผู้กำหนด แต่สามารถพูดได้อย่างชัดเจนกว่า คนร่วมกระบวนการ 50-100 คนจากทุกตำบลเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้มาก และเมื่อเราประกาศใช้ยุทธศาสตร์นี้ในงานสมัชชาพังงาแห่งความสุข ทางผู้ว่าฯ ธำรง เจริญกุล ก็ได้ประกาศบนเวทีเลยว่า จังหวัดจะสนับสนุนงบประมาณให้ขับเคลื่อนงานปีละ 2 ล้านบาท นี่คือการเชื่อมร้อยการทำงานจนเป็นหนึ่งเดียวกัน” นายไมตรี กล่าว
นายไมตรี กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา จ.พังงา มีเครื่องมือการทำงานและกลไกการทำงานที่หลากหลาย ซึ่ง จ.พังงา ก็ได้นำหลักการของทุกเครื่องมือและทุกกลไกมาประยุกต์ใช้ ไม่ว่าจะเป็นของสภาองค์กรชุมชน กองทุนสวัสดิการชุมชน รวมถึงเครื่องมือภายใต้ พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 นั่นก็คือ “กระบวนการสมัชชาสุขภาพ” โดยมีการใช้กระบวนการสมัชชาฯ ในการรวบรวมคน เปิดพื้นที่กลางเพื่อถกแถลงและหาข้อสรุปร่วมกัน
“สิ่งเหล่านี้ทำให้เราเรียนรู้ว่า วิธีการต่อสู้ของภาคประชาชนไม่จำเป็นต้องประท้วงอย่างเดียว แต่เมื่อเรามีแนวทางที่เป็นความต้องการคนในพื้นที่ มีข้อมูล มีแผนที่ชัดเจน สุดท้ายผู้ว่าฯ ก็ให้การยอมรับแผนพัฒนาจังหวัด ซึ่งเป็นแผนงานที่คนพังงาร่วมกันวิเคราะห์และเสนอความต้องการของตน สู่การกำหนดทิศทางการพัฒนาบ้านเมืองที่ตนรัก ไม่ใช่แผนงานที่คิดจากข้าราชการที่ทำงานสนองตอบนโยบายที่ถูกกำหนดมาจากบุคคลภายนอก” นายไมตรี กล่าว และว่า บทบาทในการจัดกระบวนการ สร้างพื้นที่ สร้างเป้าหมาย การจัดความสำคัญ ตลอดจนการพัฒนาคน ยังเป็นงานที่ต้องใช้ศาสตร์และศิลป์ในการทำงานที่ยากยิ่ง แต่เราร่วมกันทำ เราทำเป็นทีม เราจึงเดินมาได้
นางชาตรี มูลสาร ผู้อำนวยการสถาบันการเรียนรู้พังงาแห่งความสุข กล่าวว่า ในอดีต เมื่อมีการโยกย้าย ผวจ.พังงา มาดำรงตำแหน่งใหม่ ภาคประชาชนก็จะมีการรวมตัวกันเพื่อชุมนุมยื่นข้อเรียกร้องในบรรยากาศการเผชิญหน้า เพราะชาวบ้านต้องการให้ผู้บริหารเข้าใจและรับฟัง แต่ปัจจุบันกลายเป็นว่า เมื่อมีการโยกย้าย ผวจ.พังงา คนใหม่ ก็จะต้องมีการจัด “สมัชชาพังงาแห่งความสุข” 1 ครั้ง โดย ผวจ.พังงา ทุกคนที่เข้ามาดำรงตำแหน่งก็จะให้ความสำคัญกับงานนี้ ภาพความขัดแย้งที่เคยเกิดขึ้นทุกวันนี้ไม่มีอีกแล้ว
นางชาตรี กล่าวว่า ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี ที่ชาว จ.พังงา ได้ร่วมกันขับเคลื่อนเป้าหมายพังงาแห่งความสุข พบว่าได้รับความยอมรับและถูกยกย่องให้เป็นต้นแบบพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการทำนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม และความเข้มแข็งของชุมชน จนในที่สุดจึงมีการตั้ง “สถาบันเรียนรู้การพัฒนาพังงาแห่งความสุข” ขึ้นมา ทำหน้าที่ในการหนุนเสริมการทำงานและเก็บเกี่ยวประโยชน์คืนสู่ชุมชน
สำหรับสถาบันเรียนรู้การพัฒนาพังงาแห่งความสุข จัดตั้งขึ้นในปี 2563 ภายใต้การออกแบบการเรียนรู้ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เพื่อเปิดพื้นที่การสื่อสารและถ่ายทอดกระบวนการพัฒนาการทำงานในพื้นที่ จ.พังงา โดยมีด้วยกัน 6 หลักสูตร ได้แก่ 1. รมณีย์ : จัดสรรทรัพย์ แบ่งปันสุข 2. บ้านน้ำเค็ม : วางแผน ป้องกัน แก้ไข ภัยพิบัติด้วยชุมชน 3. โคกเจริญ : สุขภาพดี วิถีโคกเจริญ 4. รวมคนสร้างเมืองตามแนวคิดพังงาแห่งความสุข 5. เกาะยาวน้อย : สู่ความสุขร่วมของคนในชุมชน 6. มอแกลนทับตะวัน : เข้าใจพหุวัฒนธรรม สร้างสรรค์พลเมืองโลก ทุกวันนี้ยังเปิดให้บุคคลภายนอกเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้
น.ส.ภัทรกันยา ชูวงศ์ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดพังงา กล่าวว่า ยืนยันว่าแนวคิดของ จ.พังงา มุ่งให้ความสำคัญกับคน และในฐานะที่เคยมีบทบาทรับผิดชอบจัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์จังหวัด ก็ได้ตั้งคำถามว่าใครจะเป็นผู้กำหนดยุทธศาสตร์และวิสัยทัศน์ของพังงาได้ดีที่สุด หากไม่ใช่คนพังงาเอง สิ่งนี้จึงเป็นหลักคิดการทำแผนพัฒนาของสำนักงานฯ ที่เปิดรับความเห็นของประชาชน จนเดินหน้าให้ความสำคัญไปพร้อมกันสองขา คือขาของการท่องเที่ยว และขาของการเกษตร บนฐานรากที่มีคือทรัพยากรธรรมชาติ และทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งการยืนบนสองขานี้จึงทำให้ในช่วงโควิด จ.พังงา ไม่ล้มเหมือนกับจังหวัดที่มุ่งไปกับการท่องเที่ยวขาเดียว
น.ส.ภัทรกันยา กล่าวว่า ทุกการพัฒนาจะยั่งยืนได้ ก็ต่อเมื่อคนในพื้นที่ ชุมชน มาร่วมมือกันและมองว่าการพัฒนาเป็นส่วนหนึ่งของหน้าที่ที่จะต้องทำ เพราะหากไปมองว่าเป็นหน้าที่ของภาครัฐ เมื่อนั้นก็ไม่สามารถเกิดความยั่งยืนในการพัฒนาได้ ซึ่งเมื่อคนในพื้นที่พังงาเข้มแข็งออกมาร่วมกันวางแผนพัฒนา ในขณะที่งบประมาณก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะมีภาครัฐ เอกชน หน่วยงานต่างๆ มาจับคู่ร่วมกันทำงานในแต่ละประเด็น ก็ทำให้เกิดการขับเคลื่อนไปได้เป็นอย่างดี
“ภาครัฐต้องยึดความซื่อสัตย์ และหลักการมีส่วนร่วม พร้อมกับมุมคิดในเชิงบวก เพราะเมื่อไรไปมองปัญหาที่เกิดขึ้นในเชิงลบ ก็กลายเป็นการชนปะทะกันอย่างเดียว แต่หากมองปัญหาที่เกิดขึ้นในมุมบวก เราก็จะได้เห็นทางเลือกในการเดินหน้าแก้ปัญหาว่ายังมีอีกหลายทาง” น.ส.ภัทรกันยา กล่าว
นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า จุดตั้งตนในช่วงของการเกิด พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติฯ ถือเป็นช่วงที่มีความขัดแย้งอยู่มากภายในประเทศ เวลาเกิดปัญหาความขัดแย้งใดแล้วไม่หันหน้าคุยกัน ใครเห็นต่างต้องกลายเป็นศัตรู สุดท้ายจึงจบด้วยผู้ชนะได้ในสิ่งที่ต้องการ ส่วนฝ่ายที่แพ้ก็ต้องเจ็บใจแล้วหาทางเอาคืน สิ่งเหล่านี้จึงกลายเป็นจุดที่ทำให้ต้องหันมามองถึงฐานสำคัญที่เป็นความรู้ ภูมิปัญญา และ จ.พังงา เองก็เป็นส่วนหนึ่งของการทำให้เกิดแนวความคิด กระบวนการมีส่วนร่วมในการพัฒนา
นพ.ปรีดา กล่าวว่า การจัดการความรู้เป็นหัวใจสำคัญของ พ.ร.บ.สุขภาพฯ ซึ่งการสร้างการมีส่วนร่วมต้องประกอบด้วย 3 ส่วน คือ 1. ความรู้ 2. ภาคประชาชน ประชาสังคม 3. ภาคนโยบาย หน่วยงานภายในจังหวัด และท้องถิ่น ซึ่ง จ.พังงา มีพร้อมทั้งสามส่วนนี้ จึงเป็นภาพที่ได้เห็นถึงการเดินหน้าได้อย่างยั่งยืน เปลี่ยนจากความขัดแย้ง กลายเป็นการทำงานร่วมกันบนเป้าหมายร่วม และการจัดการแบบสันติวิธี
“ที่ จ.พังงา ได้แสดงให้เห็นถึงหลักคิดการพัฒนาหลายเรื่องที่มีความแตกต่าง และส่วนที่สำคัญมาก คือการเห็นความสำคัญของทุนมนุษย์ ทรัพยากรคน ที่ไม่ใช่เป็นเพียงผู้รอรับประโยชน์ เมื่อรัฐดำเนินงานหรือมีงบประมาณเอามาแจก แต่เป็นการเห็นถึงศักยภาพคน ที่เป็นโอกาสนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนได้” นพ.ปรีดา กล่าว
ด้าน นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า จ.พังงา เป็นพื้นที่รูปธรรมที่แสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งของเครือข่ายภาคประชาชนที่ลุกขึ้นมากำหนดนโยบายและออกแบบทิศทางการพัฒนาของจังหวัด โดยมีการพัฒนาต่อยอดกลไกและเครื่องมือจากทุกภาคส่วน จนสามารถสร้างเครื่องมือที่เป็นแบบฉบับของตัวเองขึ้นมา นั่นก็คือ “สมัชชาพังงาแห่งความสุข” และมีการวางจังหวะขับเคลื่อนงานที่เกิดจากฉันทมติในสมัชชาพังงาแห่งความสุขจนเกิดเป็นรูปธรรม
“กระบวนการสมัชชาพังงาแห่งความสุขคือตัวตนสมัชชาที่สามารถตอบโจทย์คนในพื้นที่ได้ กำหนดนโยบาย เขียนกติกา เขียนอนาคตได้จริง ตามที่หัวหน้าสำนักงานจังหวัดยืนยัน ซึ่งเราก็จะขยายผลผ่าน สถาบันการเรียนรู้พังงาแห่งความสุขต่อไป” นพ.ประทีป กล่าว
นพ.ประทีป กล่าวอีกว่า ในส่วนของ สช. ในฐานะองค์กรสานพลังที่จัดตั้งขึ้นภายใต้ พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มีเครื่องมือการทำงานเพื่อสร้างสมดุลการพัฒนา คลี่คลายความขัดแย้ง ที่ทุกภาคส่วนสามารถหยิบยกไปประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ได้ โดยเครื่องมือเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการสมัชชาสุขภาพ ธรรมนูญสุขภาพ การประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ (HIA) ฯลฯ ได้ผ่านการพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพในการแสวงหาความร่วมมือในบรรยากาศกัลยาณมิตรได้อย่างแท้จริง
/////////////////
No comments:
Post a Comment