กรมควบคุมโรค เตือนประชาชนระมัดระวังภัยสุขภาพที่มากับน้ำท่วม โดยเฉพาะ การจมน้ำ สัตว์มีพิษกัดต่อย และไฟฟ้าช็อต  - Go Ahead News

Go Ahead News

ก้าวไปข้างหน้ากับเรา

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Thursday, September 22, 2022

กรมควบคุมโรค เตือนประชาชนระมัดระวังภัยสุขภาพที่มากับน้ำท่วม โดยเฉพาะ การจมน้ำ สัตว์มีพิษกัดต่อย และไฟฟ้าช็อต 


กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ห่วงประชาชนที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วม ให้ระมัดระวังภัยสุขภาพที่มากับน้ำท่วม ได้แก่ การจมน้ำ ไฟฟ้าช็อต และสัตว์มีพิษกัดต่อย พร้อมแนะวิธีป้องกันโดยเน้นไม่ให้เดินลุยน้ำบริเวณน้ำไหลเชี่ยว สำรวจมุมอับของบ้านเป็นประจำ ป้องกันสัตว์มีพิษเข้าไปหลบซ่อน ไม่เดินลุยน้ำเข้าใกล้ปลั๊กไฟ สายไฟ หรือเสาไฟฟ้า และติดตามข่าวสารจากหน่วยงานของรัฐอย่างใกล้ชิด



วันนี้ (23 กันยายน 2565) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้มีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ ส่งผลให้บางพื้นที่มีน้ำท่วมสูง หรือน้ำท่วมฉับพลัน กรมควบคุมโรคมีความห่วงใยประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ จึงขอให้ประชาชนระมัดระวังภัยสุขภาพที่อาจทำให้เกิดอันตรายและได้รับบาดเจ็บ เช่น การจมน้ำ สัตว์มีพิษกัดต่อย และไฟฟ้าดูด ไฟฟ้าช็อต


สถานการณ์น้ำท่วมในปี 2564 ที่ผ่านมา (23 กันยายน - 18 พฤศจิกายน 2564) พบว่ามีผู้เสียชีวิต 100 ราย มีสาเหตุจากการจมน้ำ/ถูกน้ำพัดมากที่สุด 82 ราย รองลงมาคือ ไฟฟ้าช็อต 5 ราย การจมน้ำ พบในเพศชายถึงร้อยละ 74 กลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไปจมน้ำมากที่สุด ร้อยละ 34.1 สาเหตุหลักที่พบในกลุ่มผู้ใหญ่ คือ พลัดตก ลื่น เรือล่ม/พลัดตกเรือ ออกหาปลา ส่วนในกลุ่มเด็ก คือ การเล่นน้ำในพื้นที่น้ำท่วม (เล่นกันเองเป็นกลุ่ม) รองลงมาคือ เดินลุยน้ำและถูกน้ำพัด และพลัดตก ลื่น ทั้งนี้พบว่ามีการดื่มแอลกอฮอล์ร่วมด้วย ถึงร้อยละ 13.4 ส่วนไฟฟ้าช็อตทั้ง 5 ราย เป็นเด็กอายุ 15 ปี ถึง 2 ราย สาเหตุ เกิดจากเข้าไปตัดไฟในบ้าน น้ำท่วมขังบ้านพัก ขับรถไถ ส่วนข้อมูลจากระบบเฝ้าระวังการบาดเจ็บระดับชาติ ของกระทรวงสาธารณสุขในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ช่วงปี 2561-2564 (ข้อมูลทั้งปี) พบว่า มีผู้เสียชีวิตจากการถูกไฟฟ้าดูด ไฟฟ้าช็อต  เฉลี่ยถึงปีละ 74 ราย ในช่วงเดือนพฤษภาคม - ตุลาคม (ช่วงฤดูฝน) เกิดเหตุมากที่สุด

 

คำแนะนำสำหรับการป้องกันภัยสุขภาพที่มากับน้ำท่วม ดังนี้ 

1) การป้องกันการจมน้ำ ห้ามขับรถหรือเดินลุยน้ำท่วมที่ไหลเชี่ยว ซึ่งระดับน้ำสูงเพียง 6 นิ้ว สามารถทำให้เสียหลักล้มได้  ให้สวมเสื้อชูชีพ หรือนำอุปกรณ์ที่ลอยน้ำได้ติดตัวไปด้วย เช่น ถังแกลลอนพลาสติกเปล่าปิดฝาขนาด 5 ลิตร ผูกเชือกสะพายแล่งที่ข้างลำตัว และติดตามข้อมูลข่าวสารสภาพอากาศตลอดเวลาจากช่องทางต่างๆ


2) การป้องกันสัตว์มีพิษกัดต่อย เช่น งู ตะขาบ แมงป่อง ที่อาจหนีน้ำมาหลบซ่อนอาศัยอยู่ตามบ้านและมุมมืดต่างๆ คือ สอดส่องและสังเกตมุมอับของบ้านเป็นประจำ สำรวจเสื้อผ้าและรองเท้าก่อนสวมใส่ทุกครั้ง  หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำ ควรแต่งตัวให้มิดชิด และสวมรองเท้าบูททุกครั้ง ป้องกันสัตว์มีพิษที่อยู่น้ำกัดต่อย


3) การป้องกันไฟฟ้าซ็อต ให้สับคัตเอาต์ตัดกระแสไฟ พร้อมย้ายอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า ปลั๊กไฟขึ้นที่สูง ไม่ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าขณะตัวเปียกชื้น หรือกำลังยืนอยู่บนพื้นที่เปียก ตรวจสอบเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเป็นประจำ ห้ามใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่โดนน้ำท่วม และหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำเข้าใกล้ปลั๊กไฟ สายไฟหรือเสาไฟฟ้า หากเกิดไฟฟ้ารั่ว จะมีกระแสไฟฟ้ากระจายเป็นวงกว้างไม่ต่ำกว่า 3 เมตร  


นอกจากนี้ หากเจอคนถูกไฟฟ้าดูดให้ปฏิบัติ ดังนี้ ตัดกระแสไฟในที่เกิดเหตุทันที ห้ามสัมผัสตัวผู้ที่ถูกไฟฟ้าดูดด้วยมือเปล่า ให้ใช้ถุงมือยาง ผ้าแห้ง หรือพลาสติกแห้ง เพื่อเคลื่อนย้ายผู้ประสบเหตุออกจากพื้นที่ หากผู้ประสบภัยหมดสติ ควรทำการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) ในบริเวณพื้นที่แห้ง และโทรแจ้ง 1669 ทีมแพทย์ฉุกเฉินทันที


**********************************

ข้อมูลจาก : กองป้องกันการบาดเจ็บ/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

วันที่ 23 กันยายน 2565


No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad