กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ห่วงใยประชาชน ซึ่งในช่วงนี้มีน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ จึงขอให้ระมัดระวังโรคที่มากับน้ำท่วม ได้แก่ โรคไข้ฉี่หนู และโรคเมลิออยด์ แนะนำให้หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลนหรือแช่น้ำเป็นเวลานานด้วยเท้าเปล่า หากจำเป็นต้องลงพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง ควรใส่รองเท้าบูทเพื่อป้องกัน และหลังขึ้นจากน้ำให้รีบทำความสะอาดร่างกายด้วยสบู่และน้ำสะอาดทันที
วันนี้ (13 กันยายน 2565) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงนี้มีฝนตกหนัก ส่งผลให้หลายพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วม และโรคสำคัญที่มากับน้ำท่วมที่ต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องมี 2 โรค ได้แก่ 1) โรคไข้ฉี่หนู (Leptospirosis) เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นได้ ทั้งกับคนและสัตว์ เชื้อโรคนี้จะเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล ผิวหนังที่อ่อนนุ่มจากการแช่น้ำนาน หรือการรับประทานอาหารและน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อจากฉี่หนูหรือสัตว์อื่นๆ ที่ติดเชื้อได้ อาการของโรคไข้ฉี่หนู คือ มีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว จะปวดมากที่น่องและโคนขา อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย และตาแดง
สถานการณ์โรคไข้ฉี่หนูตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 5 กันยายน 2565 พบผู้ป่วย 1,410 ราย เสียชีวิต 9 ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด 3 อันดับ คือ อายุ 45-54 ปี รองลงมาอายุ 35-44 ปี และอายุ 55-64 ปี ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตร
2) โรคเมลิออยด์ (Melioidosis หรือโรคไข้ดิน) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Burkholderia pseudomallei ที่พบได้ทั่วไปในดิน น้ำ เชื้อดังกล่าวเข้าสู่ร่างกายได้ 3 ทาง คือ 1.การสัมผัสน้ำหรือดินที่มีเชื้อปนเปื้อน 2.ดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป 3.สูดหายใจเอาฝุ่นจากดินที่มีเชื้อเจือปนอยู่เข้าไป หลังติดเชื้อประมาณ 1-21 วันจะมีอาการเจ็บป่วย แต่บางรายอาจนานเป็นปีขึ้นอยู่กับปริมาณเชื้อที่ได้รับและภูมิต้านทานของแต่ละคน อาการของโรคนี้ไม่มีลักษณะเฉพาะ จะมีความหลากหลายคล้ายโรคติดเชื้ออื่นๆ หลายโรค เช่น มีไข้สูง มีฝีที่ผิวหนัง ปวดท้อง ปวดข้อปวดกระดูก มีอาการทางระบบทางเดินหายใจ บางรายพบอาการทางระบบประสาทร่วมด้วย ส่วนใหญ่มักจะเริ่มจากอาการไข้เป็นหลัก จึงทำให้วินิจฉัยโรคได้ยาก ต้องอาศัยการตรวจเพาะเชื้อทางห้องปฏิบัติการเป็นหลัก เพื่อใช้ประกอบการตรวจวินิจฉัยและรักษา
สถานการณ์โรคเมลิออยด์ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 3 กันยายน 2565 พบผู้ป่วยโรคเมลิออยด์ จำนวน 1,908 ราย เสียชีวิต 24 ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด 3 อันดับ คือ อายุ 55-64 ปี รองลงมาอายุมากกว่า 65 ปี และอายุ 45-54 ปี ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร
นายแพทย์โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการป้องกันทั้ง 2 โรค จะใช้วิธีใกล้เคียงกัน ดังนี้ หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลนหรือแช่น้ำเป็นเวลานาน หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำ ควรสวมรองเท้าบูทหรือถุงพลาสติกหุ้มรองเท้า เพื่อป้องกันไม่ให้เท้าสัมผัสน้ำโดยตรง กรณีมีบาดแผลควรปิดด้วยพลาสเตอร์กันน้ำ หมั่นล้างมือ ล้างเท้าด้วยน้ำสบู่บ่อยๆ และอาบน้ำชำระร่างกายทันทีหลังจากเสร็จจากการทำงานหรือลุยน้ำ รวมถึงดื่มน้ำสะอาดหรือน้ำต้มสุกทุกครั้ง หากมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ให้รีบไปพบแพทย์ทันที และแจ้งประวัติการเดินลุยน้ำให้แพทย์ทราบด้วย เพื่อที่แพทย์จะได้ตรวจวินิจฉัยและทำการรักษาทันที ตามอาการและความรุนแรงของโรค สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
*********************
ข้อมูลจาก : กองโรคติดต่อทั่วไป/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 13 กันยายน 2565
No comments:
Post a Comment