กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นำโดยท่านรัฐมนตรีสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล จับมือ ผู้ว่า ททท. ประชุม หารือวาระพิเศษ รัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน-ญี่ปุ่น พร้อม เดินสายลงรายละเอียดความร่วมมือส่งเสริมการท่องเที่ยว ร่วมกับประเทศในกลุ่ม อาเซียน และญี่ปุ่น หวังยกระดับการท่องเที่ยวเชื่อมโยงสู่ความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม
โดยช่วงเช้าของวันที่ 28 ตุลาคม 2566 ได้มีการหารือทวิภาคี (Bilateral Meeting) ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กับ 3 พันธมิตร 3 หน่วยงานที่สำคัญ ได้แก่
(1)เลขาธิการอาเซียน (ดร.เกา กึมฮอน)
โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อแสดงความยินดีกับ รมว.กก. ในโอกาสเข้ารับตําแหน่งใหม่ และเพื่อรับทราบบทบาทและทิศทางการดําเนินงานของไทยต่อการส่งเสริมการท่องเที่ยวในภูมิภาค อาเซียน อาทิ มาตรฐานการท่องเที่ยวอาเซียน การท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง และการพัฒนาศักยภาพบุคลากรวิชาชีพด้านการท่องเที่ยวอาเซียน
(2) ทวิภาคี ร่วมกับ รองเลขาธิการองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) (นายโยชิกิ ทาเคอุชิ)
โดยได้มีหารือในประเด็นความเป็นไปได้ /โอกาสของไทย ในการเข้าร่วมดําเนินกิจกรรมด้านการท่องเที่ยว กับ OECD
(3)การหารือทวิภาคี ร่วมกับ รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน และการท่องเที่ยวญี่ปุ่น (นายไซโตะ เท็ดสึโอะ)
เพื่อหารือในประเด็นความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ อาทิ การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism) การท่องเที่ยวเชิงชุมชน (Community Based Tourism) การส่งเสริมการ ท่องเท่ียวจากเมืองหลักสู่เมืองรองฯ รวมถึงการจัดตั้งคณะทํางานด้านการท่องเที่ยวระหว่างกระทรวงการท่องเท่ียวและกีฬา และสถาบันวิจัยด้าน การขนส่งและการท่องเที่ยวญี่ปุ่น (JTTRI – AIRO)
และในช่วงบ่ายเป็นการประชุมหารือวาระพิเศษ รัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน-ญี่ปุ่น โอกาสนี้ รมว.กก. ได้กล่าวในที่ประชุมฯ ว่า ประเทศไทยได้ให้ความสําคัญอย่างยิ่งกับความยั่งยืนของการท่องเที่ยว โดยได้มีข้อริเริ่มหลายอย่างที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ซึ่งข้อริเริ่มหลายประการ สามารถนําไปพัฒนาต่อยอดให้เหมาะสมกับการดําเนินการในระดับภูมิภาค เพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยว ควบคู่ไปกับการพัฒนาความสามารถของการบริหารจัดการธุรกิจในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ให้เกิดความยั่งยืนได้ต่อไป โดยตัวอย่างข้อริเริ่มประการแรก ได้แก่
- การพัฒนา ยกระดับ มาตรฐานแหล่งท่องเที่ยว สินค้า บริการ และบุคลากรฝด้านการท่องเที่ยว ให้มีมาตรฐานร่วมระดับภูมิภาค
- การส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์นานัปการ เช่น การรับมือกับภาวะ “นักท่องเที่ยวล้น”, การส่งเสริมความเป็นธรรมของการกระจายผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากภาคการท่องเที่ยว, การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ต่าง ๆ อย่างทั่วถึง ตลอดจน การนําอัตลักษณ์ท้องถิ่น มาใช้ส่งเสริมการท่องเที่ยว ผ่านการท่องเที่ยวชุมชน
- การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพ อันเป็นรูปแบบการท่องเที่ยวที่จะทวีศักยภาพสูงยิ่งขึ้นได้มากในอนาคต
- ข้อริเริ่มการส่งเสริมภาคการท่องเที่ยวให้สามารถใช้ประโยชน์ จาก “การเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล” ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
อนึ่ง การประชุมหารือพิเศษของรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน-ญี่ปุ่น (ASEAN-Japan Tourism Ministers’ Special Dialogue) จัดขึ้นในวันที่ 28-29 ตุลาคม 2566 ณ โรงแรม Tokyo Prince ภายใต้หัวข้อ “อนาคต 50 ปีข้างหน้าของอาเซียน-ญี่ปุ่น: การออกแบบวิถีสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนร่วมกัน” เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปีแห่งมิตรภาพและความร่วมมือ อาเซียน-ญี่ปุ่น ซึ่งการประชุมดังกล่าวได้จัดให้มีการหารือใน 2 ประเด็นหลักด้านการท่องเที่ยว ได้แก่ (1) การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และ (2) การแลกเปลี่ยนนักท่องเที่ยวระหว่างอาเซียนและญี่ปุ่น โดยรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน และผู้แทนจากหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ อาทิ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา สมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ศูนย์อาเซียน-ญี่ปุ่น และหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวของญี่ปุ่น ฯลฯ จะร่วมหารือและแสดงความคิดเห็นภายใต้ประเด็นหลักด้านการท่องเที่ยว (1) และ (2) ดังกล่าว เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันในระดับภูมิภาค และแสดงให้นานาชาติรับรู้ว่าภูมิภาคของเราให้ความสำคัญต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป #aseanjapantourismministrialsspecialdialogue #ASEANTourism #amazingthailand
No comments:
Post a Comment