กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง 18 กระทรวง เตรียมรับการประเมินผลการปฏิบัติตามกฎอนามัยระหว่างประเทศของประเทศไทยโดยผู้เชี่ยวชาญภายนอกประเทศร่วมกัน (International Health Regulations-Joint External Evaluation (IHR-JEE) ขององค์การอนามัยโลก ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม - 4 พฤศจิกายน 2565
วันนี้ (6 ตุลาคม 2565) นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ประเทศไทยได้ปฏิบัติตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ (IHR) ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2548 ตั้งแต่ประกาศใช้เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2550 และมีส่วนร่วมในการปรับปรุงแก้ไข IHR อย่างแข็งขัน การสมัครเป็นประเทศที่รับการตรวจประเมิน (Joint External Evaluation หรือ JEE) แสดงถึงการมีส่วนร่วมและความเป็นผู้นำที่น่ายกย่องของประเทศในการสนับสนุน IHR อย่างต่อเนื่อง การสนับสนุนเช่นนี้สะท้อนวิสัยทัศน์ที่ยอดเยี่ยม และแสดงถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่ปรารถนาจะดำเนินการ เพื่อให้ประชาชนทุกคนได้รับการดูแลสุขภาพตามมาตรฐานระดับโลก
การปฏิบัติตามกฎ IHR-JEE นี้แสดงถึงบทบาทการเป็นผู้นำระดับภูมิภาคในด้านต่างๆ ที่ต้องอาศัยความรู้และประสบการณ์เฉพาะด้าน รวมถึงการตอบสนองต่อการร้องขอความช่วยเหลือทางวิชาการ และการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมในภาวะฉุกเฉิน และการสนับสนุนการพัฒนาความสามารถอย่างต่อเนื่อง ประเทศสมาชิกขององค์การอนามัยโลกหลายประเทศได้รับประโยชน์จากการสนับสนุนดังกล่าว การประเมินผลการปฏิบัติตามกฎอนามัยระหว่างประเทศจะทำให้ทราบสถานะของสมรรถนะ เพื่อพัฒนาศักยภาพด้านการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคของประเทศไทย ให้ได้ตามมาตรฐานของกฎอนามัยระหว่างประเทศ ลดความเสี่ยงของประชาชนจากโรคระบาดและภัยสุขภาพที่อาจเกิดขึ้น ทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ โดยประเทศไทยจะเป็นประเทศแรกที่ทำการประเมินผลการปฏิบัติตามกฎอนามัยระหว่างประเทศครั้งที่ 2 ภายหลังจากการระบาดใหญ่ทั่วโลกของโรคโควิด 19
นายแพทย์ธเรศ กล่าวต่อไปว่า การรับการประเมินในครั้งนี้มีการเพิ่มความเข้มงวดของกฎเกณฑ์ตัวชี้วัด โดยองค์การอนามัยโลกได้ทำการปรับเปลี่ยนรูปแบบการประเมินใหม่ ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 ของการประเมินผลการปฏิบัติตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ มีตัวชี้วัด 56 ตัวชี้วัด และมีสมรรถนะทั้งสิ้น 19 ประเด็น เช่น กฎหมาย งบประมาณ การเฝ้าระวัง การเตรียมความพร้อมรับมือภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ การให้บริการด้านสาธารณสุข ความพร้อมของห้องปฏิบัติการ การดื้อยาต้านจุลชีพ การสื่อสารความเสี่ยง และช่องทางเข้าออกประเทศ เป็นต้น และได้เพิ่มประเด็น ความเสมอภาคทางเพศในภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข การป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ การมีส่วนร่วมของชุมชน และสุขภาพชายแดน เข้ามาในการประเมินในครั้งนี้อีกด้วย
********************************
ข้อมูลจาก : กองระบาดวิทยา/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 6 ตุลาคม 2565
No comments:
Post a Comment