“ชุมชนปกาเกอะญอบ้านห้วยอีค่าง”  ชุมชนต้นแบบธนาคารอาหารชุมชน (Food Bank) บนพื้นที่สูง - Go Ahead News

Go Ahead News

ก้าวไปข้างหน้ากับเรา

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Friday, October 21, 2022

“ชุมชนปกาเกอะญอบ้านห้วยอีค่าง”  ชุมชนต้นแบบธนาคารอาหารชุมชน (Food Bank) บนพื้นที่สูง










ชุมชนบ้านห้วยอีค่าง ตั้งอยู่ที่ ต. แม่วิน อ. แม่วาง จ. เชียงใหม่ เป็นหมู่บ้านชาวปกาเกอะญอที่อยู่ท่ามกลางหุบเขา ที่มีวัฒนธรรม ประเพณี และการสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนจากรุ่นสู่รุ่น


บ้านห้วยอีค่าง เป็นหนึ่งในชุมชนที่ยกระดับเป็นชุมชนตัวอย่างด้านการอนุรักษ์ ฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ และการใช้ประโยชน์พืชท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ภายใต้โครงการวิจัยและพัฒนากระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อเป็นธนาคารอาหารชุมชนบนพื้นที่สูง ของ สวพส. ซึ่งน้อมนำหลักการของโครงการธนาคารอาหารชุมชนตามพระราชดำริ หรือ “Food Bank” เป็นแนวทางในการดำเนินงาน โดยเริ่มดำเนินการร่วมกับชุมชนตั้งแต่ปี 2560 ปัจจุบันบ้านห้วยอีค่าง มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ มีพื้นที่ป่าธรรมชาติกว่า 6,000 ไร่ มีความหลากหลายพันธุ์พืชกว่า 275 ชนิด และเพาะปลูกพืชท้องถิ่นไว้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ทำการเกษตรและบริเวณครัวเรือนกว่า 98 ชนิด


ดร.จารุณี  ภิลุมวงค์ นักวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (สวพส.) กล่าวว่า สำหรับปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชุมชนบ้านห้วยอีค่าง เป็นชุมชนต้นแบบ Food Bank ที่มีการอนุรักษ์ ฟื้นฟูพืชท้องถิ่นและมีการจัดการทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน มีดังนี้


ปัจจัยที่ 1 วิถีชีวิต ประเพณี และ ความเชื่อ

ชุมชนบ้านห้วยอีค่าง เป็นชนเผ่าปกาเกอะญอ  มีวิถีชีวิตพึ่งพาอาศัย และอยู่ร่วมกับป่ามายาวนาน ทำให้ชาวบ้านรู้จักพันธุ์พืช การใช้ประโยชน์ การดูแล และรักษาป่าเป็นอย่างดี หากพื้นที่ไหนมีความอุดมสมบูรณ์ หรือ เป็นป่าต้นน้ำ ชาวบ้านจะทำการอนุรักษ์ โดยมีพิธีที่เรียกว่า “หลื่อป่า” เป็นการไหว้เจ้าป่า เจ้าเขา ให้ช่วยปกปักษ์ รักษา ความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ ห้ามใครบุกรุก ทำลาย หรือ ล่าสัตว์ เด็ดขาด ถ้าผู้ใดฝ่าฝืนจะเกิดสิ่งที่ไม่ดีกับตนเองและครอบครัว นอกจากนี้ยังมีการสอดแทรกการสร้างจิตสำนึก ด้านการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากรป่าไม้ ในนิทาน เรื่องเล่า และพิธีกรรมต่างๆ เช่น สมัยก่อนเมื่อมีเด็กเกิดในหมู่บ้าน พ่อ/แม่จะต้องนำรกเด็กมาใส่กระบอกไม้ไผ่ผูกกับต้นไม้ไว้ ต้นไม้ต้นนั้นจะเป็น”เดปอ” (ขวัญ) ของลูก ต้องอนุรักษ์ไว้ชั่วชีวิต  

 

อย่างไรก็ตามจากการพัฒนาในช่วงเวลาที่ผ่านมาการเข้ามาของคนภายนอก และการเปลี่ยนแปลงค่านิยมความเชื่อของชุมชนก็มีส่วนทำให้ทรัพยากรป่าธรรมชาติรอบๆ ชุมชนถูกทำลายไปช่วงเวลาหนึ่ง ชาวบ้านในชุมชนจึงได้เรียนรู้จากบทเรียนในอดีตที่ผ่านมา และตระหนักถึงคุณค่าการรักษาป่า จนก่อให้เกิดชุมชนที่รักษ์ป่าเช่นทุกวันนี้ โดยมีคำมั่นของชุมชนที่ว่า …“พวกเราชาวบ้านห้วยอีค่างจะดูแลรักษาผืนป่านี้ เพื่อคงไว้ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ พวกเราจะรักษาไว้เพื่อเป็นสมบัติให้แก่ลูกหลานและประเทศชาติสืบไป ” 


ปัจจัยที่ 2 ความเข้มแข็ง และกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน  

 1) ด้านการป้องกันรักษา เช่น การกันลาดตระเวนป้องกันการลักลอบการตัดไม้ในฤดูฝน และการเกิดไฟป่าในฤดูร้อน การทำแนวกันไฟ การตั้งคณะกรรมการ และกฎระเบียบในการใช้ประโยชน์ป่าชุมชนร่วมกัน  

 2) ด้านการฟื้นฟู เช่น การเพาะกล้าไม้แลกเปลี่ยนกันในชุมชน การปลูกป่า การทำฝายชะลอน้ำ การทำความสะอาดแหล่งต้นน้ำในชุมชน และ การปล่อยสัตว์น้ำ เป็นต้น

3) ด้านการต่อยอด เช่น การถ่ายทอดภูมิปัญญาการใช้ประโยชน์พืชท้องถิ่นจากผู้รู้ สู่เยาวชนเด็กรุ่นใหม่ การแปรรูปพืชอาหาร พืชสมุนไพร และ พืชสีย้อมธรรมชาติ เป็นต้น


ปัจจัยที่ 3 บทบาทของผู้นำชุมชน

การมีผู้นำที่มีจิตใจเป็นนักพัฒนา มีความรู้ ความสามารถในการสื่อสารให้ชาวบ้านเข้าใจ เป็นตัวอย่างที่ดีในการดูแลรักษาทรัพยากรป่าไม้และความหลากหลายทางชีวภาพให้แก่ชาวบ้าน มีความเสียสละ กล้าหาญ และน่าเชื่อถือ สามารถชักนำให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่าง ๆ มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี รับฟังความคิดเห็นของชาวบ้าน มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มองการณ์ไกล สามารถประสานงานกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ เพื่อสร้างการเรียนรู้ให้แก่ชุมชนได้เป็นอย่างดี


ปัจจัยที่ 4 การสนับสนุนและการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง

1) ด้านงบประมาณ สำหรับบริหารจัดกิจกรรมต่าง ๆ ด้านการอนุรักษ์ฯ เช่น การทำแนวกันไฟ การปลูกป่า การทำฝายชะลอน้ำ และ การถ่ายทอดองค์ความรู้ฯ เป็นต้น

2) ด้านวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ เช่น วัสดุอุปกรณ์ในการเพาะปลูกพืช เมล็ดพันธุ์พืช พันธุ์ปลา กล้าไม้ อุปกรณ์ในการทำโรงเรือนเพาะกล้าไม้ แปลงรวบรวมพืช และอุปกรณ์ที่ใช้ในการต่อยอด/แปรรูปพืชท้องถิ่นต่าง ๆ

3) ด้านองค์ความรู้ เช่น การรวบรวมข้อมูลผู้รู้ การใช้ประโยชน์พืชท้องถิ่น การแปรรูปพืชอาหาร/พืชสมุนไพร/พืชสีย้อม การจัดทำแผนที่แสดงขอบเขตการใช้ประโยชน์ที่ดินในชุมชนให้ชัดเจน และ การจัดทำสื่อรูปแบบต่าง ๆ เพื่อการประชาสัมพันธ์ เผยแผ่ข้อมูลข่าวสาร เป็นต้น

      

ดร.จารุณี  กล่าวด้วยว่า  ปัจจุบันชุมชนปกาเกอะญอบ้านห้วยอีค่าง เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพในระดับชุมชน โดยมีฐานการเรียนรู้ด้านต่าง ๆ ดังนี้

o ความสัมพันธ์ของระบบนิเวศ ดิน น้ำ ป่าไม้ และ คน ตามวิถีชีวิตของชาวปกาเกอะญอ บ้านห้วยอีค่าง

o การอนุรักษ์ ฟื้นฟู พืชท้องถิ่น เพื่อเป็นธนาคารอาหารของชุมชน

o การรวบรวมความหลากหลายของเมล็ดพันธุ์พืชท้องถิ่น

o การย้อมสีธรรมชาติและงานหัตถกรรมของชุมชน

o การใช้ประโยชน์พืชสมุนไพรในการดูแลสุขภาพ

o การอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าผู้หญิง

o การอนุรักษ์ป่าเดปอทู ตามความเชื่อของชาวปกาเกอะญอ


No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad