กรมควบคุมโรค แนะประชาชนในพื้นที่น้ำท่วม เพิ่มความระมัดระวังในการเดินทาง หลีกเลี่ยงการขับรถหรือเดินฝ่าบริเวณน้ำท่วม และหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมทางน้ำ เช่น ออกหาปลาช่วงน้ำไหลหลาก เพราะอาจเสี่ยงต่อการถูกกระแสน้ำพัดพาหรืออาจจมน้ำเสียชีวิตได้ เผยเกือบครึ่งหนึ่งของการจมน้ำในช่วงน้ำท่วม เดือน (ก.ย. - ต.ค. 65) เกิดจากการขับรถผ่านน้ำท่วมและออกหาปลา
วันนี้ (11 ตุลาคม 2565) นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงนี้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกฟ้าคะนอง และฝนตกหนักบางแห่ง รวมถึงฝนที่ตกสะสมและมีน้ำหลากจากทางตอนเหนือไหลลงแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่า ไหลหลาก ที่น่าห่วงคือการจมน้ำ ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่พบมากที่สุดเมื่อเกิดน้ำท่วม
ซึ่งจากการเฝ้าระวังการเสียชีวิตในช่วงน้ำท่วมของกรมควบคุมโรค และกองสาธารณสุขฉุกเฉิน กระทรวงสาธารณสุข ระหว่างวันที่ 23 สิงหาคม - 9 ตุลาคม 2565 พบผู้เสียชีวิตสะสมรวม 51 ราย เสียชีวิตจากการจมน้ำ 49 ราย และอีก 2 รายมีสาเหตุจากต้นไม้ล้มทับ ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้น (ร้อยละ 37.3) รองลงมาคือกลุ่มอายุ 45-59 ปี (ร้อยละ 23.5) เป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิงเกือบ 4 เท่า โดยผู้เสียชีวิตที่ทราบสาเหตุจำนวน 38 ราย เกือบครึ่งหนึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการขับรถผ่านน้ำท่วมและออกหาปลา (ขับรถผ่านน้ำท่วม ร้อยละ 21.1 และออกหาปลา ร้อยละ 18.4) ส่วนในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี คือ การเล่นน้ำในพื้นที่น้ำท่วม โดยชวนกันไปเล่นน้ำเป็นกลุ่ม (ร้อยละ 15.8) และในผู้เสียชีวิตทั้งหมดมีประวัติการดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาเกี่ยวข้องถึง (ร้อยละ 13.7) จุดเกิดเหตุส่วนใหญ่เป็นบริเวณถนนที่มีน้ำท่วมขังมากที่สุด (ร้อยละ 19.6) รองลงมาเป็นบ้านและบริเวณรอบบ้าน (ร้อยละ 15.7) และฝาย (ร้อยละ 15.7) จังหวัดที่พบการจมน้ำเสียชีวิตมากที่สุด คือ ศรีสะเกษ (จำนวน 11 ราย) รองลงมาคือ นครราชสีมา และพระนครศรีอยุธยา (จังหวัดละ 5 ราย)
นายแพทย์ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอแนะนำประชาชนที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมหรือพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมฉับพลัน ขอให้ระมัดระวังและเพิ่มความปลอดภัยจากการจมน้ำ โดยเฉพาะการเดินทางและทำกิจกรรมทางน้ำ ดังนี้ 1. เพิ่มความระมัดระวังในการเดินทาง ไม่ควรขับรถหรือเดินลุยน้ำผ่านบริเวณที่มีน้ำท่วม เพราะความสูงของน้ำเพียง 15 เซนติเมตร สามารถทำให้เสียหลักและล้มได้ 2.หลีกเลี่ยงหรืองดการออกหาปลา เพราะเสี่ยงต่อการถูกกระแสน้ำพัดพา หรือตกลงไปในบ่อน้ำลึกได้ 3.ดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด ไม่ให้รวมกลุ่มชวนกันไปเล่นน้ำ 4.งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด 5.กลุ่มเสี่ยง เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรดูแลอย่างใกล้ชิด ไม่ให้อยู่ใกล้แหล่งน้ำตามลำพัง 6.สวมเสื้อชูชีพทุกครั้งที่เดินทางด้วยเรือ หรือทำกิจกรรมทางน้ำ หากไม่มีให้ใช้อุปกรณ์ลอยน้ำได้อย่างง่าย เช่น แกลลอนพลาสติกเปล่าปิดฝาขนาด 5 ลิตร สะพายแล่ง ติดตัวไปด้วย และ 7.ให้ติดตามข้อมูลข่าวสาร สภาพอากาศตามประกาศเตือนของกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
**********************************
ข้อมูลจาก: กองป้องกันการบาดเจ็บ/สำนักสื่อสารความเสี่ยง กรมควบคุมโรค
วันที่ 11 ตุลาคม 2565
No comments:
Post a Comment