“สร้างนักธุรกิจดิจิตัล (Digital Education Funding) : เรียนอาชีพออนไลน์ฟรี ให้เงินทุนสร้างธุรกิจ 1 คน 1 อาชีพ”
ดร.กมล รอดคล้าย ที่ปรึกษา รมช.ศธ. เสนอเเนวคิดเพื่อนำไปสู่การพัฒนาเป็นนโยบายด้านการศึกษาในอนาคตว่า
ในยุคสมัยที่โลกเปลี่ยนแปลงไป การศึกษาสามารถจัดได้หลากหลายรูปแบบ ความสนใจของคนที่มีต่อระบบการศึกษาแบบเดิมเปลี่ยนแปลงไป ด้วยเหตุของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และด้วยวิกฤตโควิดหรือวิกฤตเศรษฐกิจโลก ทำให้ผู้คนเล็งเห็นแล้วว่า เราอาจใช้เวลาสำหรับการศึกษาในระบบมากจนเกินไป การศึกษาซึ่งผสมผสานระหว่างสายสามัญและสายอาชีพจึงเป็นเรื่องที่สังคมเรียกร้อง รวมทั้งการศึกษา ที่ผู้เรียนไม่จำเป็นต้องไปเรียนที่โรงเรียน แต่สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง จึงเป็นเรื่องที่ต้องนำมาคิดวิเคราะห์กันอย่างจริงจัง
แนวคิดสร้างนักธุรกิจดิจิตัล เรียนฟรีผ่านออนไลน์และให้ทุนประกอบอาชีพจึงเกิดขึ้น ด้วยเล็งเห็นว่าในสังคมไทย จำเป็นจะต้องมีทรัพยากรมนุษย์หรือคนในวัยแรงงานรุ่นใหม่ที่มีลักษณะแตกต่างไปจากเดิม ในอดีตเรามีเกษตรกร มีผู้ทำงานในภาคอุตสาหกรรม ภาคการผลิต หรือภาคการบริการ แต่ในอนาคตนักธุรกิจดิจิตัลน่าจะเป็น กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้หลากหลาย ใช้ดิจิตัลเป็นฐานในการสร้างธุรกิจ นำรายได้เข้าสู่ประเทศ รวมทั้งเป็นผู้เปลี่ยนฐานการผลิตของประเทศไทยอย่างรวดเร็วและรุนแรง
แนวคิดการสร้างนักธุรกิจออนไลน์ ในทางทฤษฎี มี 4 ประเภทการเปลี่ยนเเปลงของธุรกิจ โดยแบ่งออกเป็นอย่างน้อย 10 สาขาวิชา สี่ประเภทของการเปลี่ยนแปลงคือ
1.Process Transformation เปลี่ยนกระบวนการ ขั้นตอนการทำงานเช่นการสั่งงานผ่าน online 2.Business Model Transformation เปลี่ยนรูปแบบ ธุรกิจใหม่เช่น Netflix , uber ,e-sport
3.Domain Transformation มีระบบจัดเก็บข้อมูลใหม่ เช่นระบบ cloud ของ Amazon
4.Cultural/ Organizational Transformaton ปรับระบบ ecosystem ขององค์กร เป็นการทำงานที่ปรับ Mindset ให้บริการลูกค้ามากขึ้นเหมาะกับงานด้านการท่องเที่ยว วัฒนธรรม
ทั้งนี้โดยมี 10 สาขาวิชาย่อยอยู่ภายในคือ 1) ธุรกิจ e- commerce 2 )ธุรกิจแพลตฟอร์ม 3) ธุรกิจ cloud Storage 4) ธุรกิจ e-sport 5) ธุรกิจ social media & online entertainment 6) ธุรกิจจัดทำ Content YouTube , influences 7 ) ธุรกิจ Media agency 8) ธุรกิจ fintech 9) ธุรกิจชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 10)ธุรกิจ Modern Trade
ถ้าเราต้องการสร้างนักธุรกิจดิจิตัลรุ่นใหม่จำเป็นต้องกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่จัดชัดเจนในการดำเนินงาน และจำนวนเพียงพอต่อการมี impact ในการขับเคลื่อนประเทศ โดยเบื้องต้นถ้าเราสามารถสร้างนักธุรกิจดิจิตัลได้ 1,000 คนต่อตำบลประเทศไทยมี 7,000 ตำบล จะสามารถสร้างนักธุรกิจดิจิตัลได้ 7 ล้านคน รวมนักศึกษามหาวิทยาลัย อาชีวะ มัธยมปลาย 3.9 ล้านคนถ้าเรียนอาชีพควบคู่ไปกับระบบปกติประมาณครึ่งหนึ่งจะได้กลุ่มเป้าหมาย 2 ล้านคน รวมทั้งสองกลุ่ม 9 ล้านคนทั้งประเทศ
กระบวนการจัดการ จะต้องมอบหมายให้สถาบันอุดมศึกษา หรือหน่วยงานที่เชี่ยวชาญจัดทำแพลตฟอร์มที่ครอบคลุมงาน 2 ด้าน คือ 1) งานจัดการเรียนการสอน เพื่อรับลงทะเบียนและอนุมัติจัดการเรียนการสอนให้กับสถาบันที่มีความพร้อม คือมหาวิทยาลัย วิทยาลัยอาชีวศึกษา กศน. โรงเรียนเอกชนนอกระบบ โรงเรียนมัธยมปลาย ฯลฯ เพื่อสนับสนุนงบประมาณเป็นค่าใช้จ่ายรายหัวให้กับฝ่ายผู้จัด 2) งานทุนประกอบอาชีพ เพื่อจัดงบสนับสนุนนักศึกษาที่เรียนจบ โดยจำนวนเงินที่ให้ตามรายวิชาที่เรียนจบเพื่อนำไปใช้เป็นเงินทุนตั้งต้นประกอบอาชีพ ซึ่งรวมทั้งหมดเราใช้เงินทุนไม่เกิน 9,000 ล้านบาทสำหรับการสนับสนุน โดยค่าใช้จ่ายรายหัว ครึ่งหนึ่งมอบให้สถาบันการศึกษาจัดการเรียนการสอนอาชีพด้วยวิธี online เนื่องจากใช้ระบบออนไลน์ค่าใช้จ่ายจริงไม่สูงเท่าการจัดการเรียนการสอนปกติ อีกครึ่งหนึ่งมอบให้กับผู้เรียนเพื่อเป็นทุนตั้งต้นในการประกอบอาชีพ
สำหรับกรณีต้องการเงินทุนเพิ่มเติมสำหรับการประกอบอาชีพ หรือเริ่มธุรกิจ start up บางสาขาอาชีพที่ต้องใช้เงินทุนมาก มอบให้สถาบันการเงินเข้ามาให้กู้โดยรัฐอาจสนับสนุนงบประมาณผ่านสถาบันการเงินต่างๆได้
ประชาชนทั่วไปที่เป็นผู้เรียน สามารถนำความรู้และเงินทุนไปใช้ประกอบอาชีพใหม่เป็น Start up ด้านธุรกิจดิจิตัล หรือนำไปเสริมอาชีพเดิมเพื่อให้เป็นนวัตกรรมในการขายผ่านระบบอีคอมเมิร์ซ หรือใช้ระบบดิจิตัลเพื่อพัฒนาธุรกิจเดิม ในการสร้างมูลค่าเพิ่ม การใช้ระบบฟินเทคการส่งสินค้าด้วยระบบโลจิสติกส์แบบใหม่ การขายด้วยระบบออนไลน์ หรือสร้างแพลตฟอร์มใหม่ เป็นต้น
สำหรับผู้เรียนที่เป็นนักศึกษา สามารถนำเงินทุนที่ได้ ไปใช้ประกอบอาชีพและนำวิชาเรียนที่ได้ไปเป็นวิชาเลือกเสรี จะทำให้ลดเวลาเรียนและต่อไปสามารถสร้างระบบ Credit Bank และเทียบโอนผลการเรีๅยนได้
ในอนาคตการจัดการศึกษาแบบนี้ไม่จำเป็นต้องใช้กระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ แต่อาจจัดโดยกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุดมศึกษาฯ กระทรวงเเรงงาน กระทรวงดีอี กระทรวงพาณิชย์ ฯลฯโดยใช้ระบบการจัดทุนสนับสนุนหรือ Funding จากงบกลางของรัฐ คือ สนับสนุนงบประมาณลักษณะเดียวกับบัตรสวัสดิการเเห่งรัฐ หรือแอฟเป๋าตังค์ สนับสนุนค่าใช้จ่ายคนละครึ่ง เป็นต้น ทั้งนี้การควบคุมระบบสามารถใช้แอพพลิเคชั่นเพื่อตรวจสอบสถาบันการศึกษาที่จัดการเรียนการสอน และจำนวนผู้จบจริง จากนั้นกระทรวงการคลังสามารถจัดสรรงบประมาณส่งตรงถึงผู้จัดการเรียนการสอน และผู้เรียนจบเพื่อการประกอบอาชีพได้โดยตรง
นี่คือรูปแบบใหม่ที่ควรเกิดขึ้นเพื่อการจัดการศึกษา เป็นเเนวนโยบายที่พลิกโฉมการสร้างกำลังคนของประเทศ ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้ประเทศไทยก้าวผ่านการพัฒนากำลังคนในระบบเดิม ไปสู่คนรุ่นใหม่ที่มีความถนัดแบบใหม่ เเละสามารถสร้างประเทศให้มีเศรษฐกิจที่ดีขึ้นในอนาคต
No comments:
Post a Comment