วันนี้ (20 ตุลาคม 2565) ที่โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ กรุงเทพมหานคร นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย นายโทฟิก บักคาลิ รักษาการผู้อำนวยการโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก และนางสาวเลจี้ ทาเมียร์ โครงการผู้นำเยาวชน (Youth LEAD) ร่วมเปิดการประชุม Asia-Pacific Youth Forum: Putting Young Key Populations first to end AIDS by 2030 โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ โครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (UNAIDS) และ Youth LEAD ภายในการสนับสนุนจากหน่วยงานสหประชาชาติ จัดประชุมขึ้นเพื่อรับฟังเสียงสะท้อน ประสบการณ์ และข้อเสนอแนะ ในการดำเนินงานด้านยุติเอดส์ จากผู้แทนเยาวชนในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก
จากรายงานของ UNAIDS พบว่า การติดเชื้อเอชไอวีในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกสูงเป็นอันดับสองของโลก โดยในปี 2564 คาดประมาณว่ามีผู้ติดเชื้อเอชไอวีอยู่ประมาณ 6 ล้านคน และมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ ประมาณ 240,000 คน ในจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่นี้ พบว่า ร้อยละ 26 เป็นกลุ่มเยาวชนอายุ 15-24 ปี ซึ่งในภาพรวมของภูมิภาค พบว่า ผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ในเยาวชนมีแนวโน้มลดลง แต่ยังไม่เพียงพอที่จะบรรลุเป้าหมายในการยุติปัญหาเอดส์ให้ได้ภายในปี 2573 เนื่องจาก พบว่า ร้อยละ 99.9 ของเยาวชนติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ดังกล่าวเป็นกลุ่มประชากรหลักที่เป็นชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย เป็นผู้ใช้สารเสพติด และพบว่ามีเพียง 1 ใน 4 เท่านั้นที่สามารถเข้าถึงบริการป้องกันเพื่อไม่ให้ตัวเองติดเชื้อเอชไอวีได้ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาในการเปิดเวทีรับฟังเสียงสะท้อน ประสบการณ์ และความคิดเห็นต่อแนวทางการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีจากผู้แทนเยาวชนในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกเป็นอันดับแรก
สำหรับการประชุมวันนี้ เป็นวันแรกของการประชุมฯ โดยมีผู้แทนเยาวชนจากประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิค ประมาณ 30 คน จาก 22 ประเทศ ได้แก่ ไทย บังคลาเทศ บรูไนดารุสซาลาม กัมพูชา จีน ฟิจิ อินเดีย อินโดนีเซีย อิหร่าน ญี่ปุ่น ลาว มาเลเซีย มองโกเลีย เมียนมา เนปาล ปากีสถาน ปาปัวนิวกีนี ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ศรีลังกา ติมอร์-เลสเต และเวียดนาม ซึ่งข้อมูลจากเสียงสะท้อน ประสบการณ์ และการถอดบทเรียนที่ได้ในวันนี้ จะจัดทำเป็นข้อเสนอแนะสำหรับนำเสนอสู่การประชุมระดับสูงในวันพรุ่งนี้ เพื่อเป็นข้อมูลสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายและทิศทางการแก้ไขปัญหาเอดส์ ปิดช่องว่างที่เกิดขึ้น นำไปสู่การยุติเอดส์ภายในปี 2573 ต่อไป
*************************
ข้อมูล : กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 20 ตุลาคม 2565
No comments:
Post a Comment