วันที่ 16 มกราคม 2566
นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน มอบหมายให้นายวิฑูรย์ นวลนุกูล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เป็นประธานพิธีเปิดกิจกรรมประชุมเชิงปฏิบัติการสร้างความรู้ความเข้าใจการดำเนินงานโครงการ ๙ ; ๑๐ ปฏิบัติบูชา “สืบสาน รักษา ต่อยอด” เพื่อพัฒนาชุมชน ระหว่างวันที่ 16 - 18 มกราคม 2566 ณ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนชลบุรี อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี โดยมีนายอาจณรงค์ สัตยพานิช หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน คนที่ 10 นางสงวน มะเสนา ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน นายสุรพล ศรจิตต์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนชลบุรี คนที่ 2 นายคนอง ส่งช่วย ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนชลบุรี นายเฉลิมเกียรติ แผนกิจเจริญ ผู้อำนวยการวิทยาลัยการพัฒนาชุมชน และคณะผู้บริหารกรมการพัฒนาชุมชน ร่วมพิธีฯ โดยนางทัศนีย์ ชัยคุณแสง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาทุนและองค์กรการเงินชุมชน กล่าวรายงานฯ
นายวิฑูรย์ นวลนุกูล รองอธิบดี พช. กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ดำเนินโครงการ ๙ ; ๑๐ ปฏิบัติบูชา "สืบสาน รักษา ต่อยอด” เพื่อพัฒนาชุมชน มีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ตามพระราชปณิธาน ในการสืบสาน รักษา ต่อยอด ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงพระราชทานแนวคิดและทฤษฎี อันมีคุณค่าและนับเป็นคุณูปการอันยิ่งใหญ่ ที่ครอบคลุมกระบวนการพัฒนาด้านต่าง ๆ ในการยกระดับคุณภาพชีวิตของพสกนิกรชาวไทย โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตามภูมิภาคต่าง ๆ จำนวน 6 ศูนย์ ในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดจันทบุรี จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดสกลนคร และจังหวัดนราธิวาส ซึ่งศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ ทั้ง 6 ศูนย์ มีพันธกิจในการมอบความรู้ ผ่านการศึกษา ทดลอง และสาธิต ด้านต่าง ๆ เช่น ด้านการเกษตร ปศุสัตว์ ประมง ตลอดจนการพัฒนาทางด้านสังคม และงานศิลปาชีพ ให้แก่ประชาชน
"โครงการ ๙ ; ๑๐ ปฏิบัติบูชา "สืบสาน รักษา ต่อยอด”เพื่อพัฒนาชุมชน ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2564 โดยบูรณาการการทำงานร่วมกับภาคีทุกภาคส่วนในการค้นหาและจัดประกวดหมู่บ้านที่ประสบความสำเร็จ จากการน้อมนำแนวพระราชดำริมาประยุกต์ใช้ให้เป็นกลไกสร้างความยั่งยืนให้เกิดความเข้มแข็งในชุมชน ปัจจุบันมีหมู่บ้านต้นแบบการน้อมนำแนวพระราชดำริ จำนวนทั้งสิ้น 36 หมู่บ้าน ที่สามารถเป็นต้นแบบความสำเร็จ 3 ด้าน ได้แก่ ด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ และด้านสิ่งแวดล้อม
อันเป็นการสร้างประโยชน์ ส่งเสริม และนับเป็นการสนับสนุนหมู่บ้านรอบศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทั้ง 6 ศูนย์ เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงความรู้และกระบวนการเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้มีความมั่นคงและยั่งยืนต่อไป" รองอธิบดี พช. กล่าวทิ้งท้าย
No comments:
Post a Comment