กรมควบคุมโรค ร่วมกับ กทม. และ WHO รณรงค์ลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในเขตกรุงเทพฯ ลดเสี่ยงป่วยโรคไม่ติดต่อ - Go Ahead News

Go Ahead News

ก้าวไปข้างหน้ากับเรา

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Tuesday, December 19, 2023

กรมควบคุมโรค ร่วมกับ กทม. และ WHO รณรงค์ลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในเขตกรุงเทพฯ ลดเสี่ยงป่วยโรคไม่ติดต่อ











19 ธันวาคม 2566  ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 นายแพทย์กฤษฎา หาญบรรเจิด ผู้อำนวยการกองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค พร้อมด้วย นายแพทย์สุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร และ Dr.Jos Vandelaer, WHO Representative to Thailand ร่วมแถลงความร่วมมือการดำเนินงานลดบริโภคเกลือและโซเดียมในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร 


นายแพทย์กฤษฎา หาญบรรเจิด ผู้อำนวยการกองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากข้อมูล  ผลการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2562–2563 พบว่า ประชาชนในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ มีค่าเฉลี่ยของการบริโภคโซเดียม เท่ากับ 3,496 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเกือบ 2 เท่าของคำแนะนำองค์การอนามัยโลก และจากข้อมูลผลการสำรวจโซเดียมในอาหารผ่านระบบ Thai Salt Survey ของกรมควบคุมโรค ปี 2566 พบปริมาณโซเดียมเฉลี่ยในอาหารในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ อยู่ในระดับเค็มมาก หรือ 390 มิลลิกรัมต่ออาหาร 100 มิลลิลิตร การบริโภคโซเดียมเกินอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานก่อให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง และเป็นปัจจัยของโรคแทรกซ้อนอันตราย เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง โรคไตเรื้อรัง ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้แนะนำให้บริโภคโซเดียมไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อคนต่อวัน เทียบเท่าเกลือ 5 กรัม หรือ 1 ช้อนชา


นายแพทย์กฤษฎา กล่าวต่อว่า กรมควบคุมโรค ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายจัดทำยุทธศาสตร์การลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในประเทศไทย พ.ศ. 2559 - 2568 เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินงานให้บรรลุเป้าประสงค์ “ประชาชนบริโภคเกลือและโซเดียมลดลงร้อยละ 30 ภายในปี 2568” ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ (SALTS) ได้แก่ S (Stakeholder network) พัฒนาและขยายภาคีเครือข่ายความร่วมมือ A (Awareness) เพิ่มความรู้ความตระหนักและเสริมทักษะให้ประชาชน L (Legislationand environmental reform) ปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและเกิดผลิตภัณฑ์ที่มีโซเดียมต่ำ T (Technology and innovation) พัฒนางานวิจัย องค์ความรู้ และนำไปสู่การปฏิบัติS (Surveillance, monitoring, and evaluation) การพัฒนาระบบเฝ้าระวังติดตาม ประเมินผล ตลอดกระบวนการ


“การดำเนินงานลดการบริโภคเกลือและโซเดียมจะประสบผลสำเร็จได้นั้นควรทำอย่างต่อเนื่อง โดยอาศัยกลไกการขับเคลื่อนทุกระดับ และการประสานความร่วมมือของภาคีเครือข่ายเข้าด้วยกัน และขอขอบคุณกรุงเทพมหานครเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้ให้ความสำคัญและมีส่วนร่วมในการดำเนินงานเฝ้าระวังและลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะบรรลุเป้าหมายการลดบริโภคเกลือและโซเดียม ทำให้ประชาชนมีสุขภาพดีจากการบริโภคเกลือและโซเดียมลดลง” นายแพทย์กฤษฎา กล่าว


นายแพทย์สุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า จากสถานการณ์การบริโภคเกลือและโซเดียมของคนไทยที่มากเกินความจำเป็นทำให้เสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคไต ด้วยความห่วงใยของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีนโยบายขับเคลื่อนการลดบริโภคเกลือและโซเดียมร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ในสังคม จึงได้ร่วมมือกับกรมควบคุมโรคและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการเฝ้าระวังและลดการบริโภคเกลือและโซเดียมซึ่งวิถีชีวิตของกรุงเทพมหานครเป็นเมืองใหญ่ มีการรับประทานอาหารนอกบ้านเป็นหลัก อาหารปรุงสุกเป็นแหล่งของโซเดียมและไม่มีฉลากโภชนาการ นอกจากนี้มีการดำเนินงานร่วมกับสมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทย จัดอบรมการปรับสูตรอาหารลดโซเดียมสำหรับผู้ประกอบการในตลาดพรีเมียมในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร 


โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ การสร้างความตระหนักรู้ ให้ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ทั้งผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ผู้บริโภค ในเรื่องการลดบริโภคเกลือและโซเดียม โดยยกระดับร้านอาหารปลอดภัยของกรุงเทพมหานคร (Safety Food) สู่ร้านอาหารสุขภาพ (Healthy Food) นำร่องแล้วในตลาดพรีเมียมมาร์เก็ต ทั้ง 8 แห่ง ได้แก่ ตลาดเวิลด์มาร์เก็ต  ตลาดเสนีย์ฟู้ด  ตลาดสามย่าน  ตลาดเสรีมาร์เก็ต ตลาดฟู้ดวิลล่า ตลาดยิ่งเจริญ  ตลาดศูนย์การค้ามีนบุรี  และตลาดถนอมมิตร  พร้อมมอบเกียรติบัตรเพื่อเป็นการขอบคุณแก่ตลาดพรีเมียมทั้ง   8 แห่ง ที่ร่วมรณรงค์ลดบริโภคเกลือและโซเดียม ทำให้เกิดเมนูอาหารมากมายที่เป็นทางเลือกสุขภาพให้ประชาชนมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้การดำเนินงานในขั้นถัดไป ในปี 2567 คือขยายการดำเนินงานไปในโรงอาหารในโรงเรียน สถานที่ราชการ รวมถึงตลาดในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่มีความพร้อม เพื่อให้ประชาชนทั่วประเทศมีสุขภาพดีตลอดไป


Dr.Jos Vandelaer, WHO Representative to Thailand กล่าวว่า โซเดียมส่วนใหญ่มีอยู่ในเกลือ เมื่อใส่เกลือในอาหารทำให้อาหารมีรสชาติขึ้น ไม่จืดชืด เราต้องการโซเดียม (เกลือ) ในร่างกาย แต่ถ้าได้รับมันมากเกินไปความดันโลหิตก็เพิ่มขึ้น สามารถทำให้อวัยวะของคุณเสียหายได้ไม่ว่าจะสมอง หัวใจ ไต นั่นเป็นสาเหตุของโรคหลอดเลือดหัวใจ การทำงานของหัวใจที่เสื่อมลง การทำงานของไตที่ผิดปกติ ดังนั้นหากโซเดียมในปริมาณน้อยจะมีประโยชน์ต่อร่างกาย 


องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย มีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้เห็นความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานครและกระทรวงสาธารณสุข ในการรณรงค์ลดการบริโภคโซเดียมของประชากรกรุงเทพฯ ในฐานะที่เป็นเมืองหลวงและเมืองที่มีประชากรมากที่สุดของประเทศไทย โครงการนี้จะสร้างผลลัพธ์ที่สำคัญในการขับเคลื่อนการบริโภคโซเดียมของประชากร ชึ่งองค์การอนามัยโลกขอเน้นย้ำสองประเด็นของโครงการนี้ 1) โครงการตลาดพรีเมียมโซเดียมต่ำ กรุงเทพมหานครและกระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมมือกับผู้ผลิตอาหารในพื้นที่เพื่อปรับเปลี่ยนสูตรอาหารและให้ความรู้ผู้บริโภคในการลดโซเดียม คือลดปริมาณโซเดียมตั้งแต่กระบวนการผลิตอาหาร และ  2) ให้มีการเฝ้าระวังเพื่อตรวจสอบปริมาณโซเดียมในอาหารตามตลาดจะเป็นประโยชน์สำหรับการวัดผลการดำเนินงานและให้ความรู้แก่สาธารณชน จะวัดผลว่าทุกๆ การสื่อสารและความตระหนักรู้นั้นจะนำไปสู่การลดโซเดียมในอาหารที่ขายในตลาดกรุงเทพฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ ทั้งนี้ การแก้ปัญหาการบริโภคโซเดียมที่มากเกินไปนั้นเป็นความรับผิดชอบของทุกคน แต่ภาครัฐสามารถช่วยได้ด้วยการกระตุ้นพฤติกรรมไปในทิศทางที่ถูกต้องจะนำมาซึ่งสุขภาพที่ดีของคนไทย


***************************

ข้อมูลจาก : กองโรคไม่ติดต่อ/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

วันที่ 19 ธันวาคม 2566



No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad