ทุกวันนี้ คนไทยอุ่นใจเรื่อง ‘ค่ารักษาพยาบาล’ ได้ เพราะประเทศไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ซึ่งให้สิทธิ ‘รักษาฟรี’ โดยไม่เกี่ยงเศรษฐฐานะ สิทธิบัตรทองช่วยการันตีว่า แม้จะไม่มีเงิน แต่หากเจ็บป่วยขึ้นมา ก็จะเข้าถึงการรักษาได้
ในอนาคต หากเรามี ‘ระบบบำนาญผู้สูงอายุ’ ด้วย ก็จะยิ่งสร้างความมั่นคงในชีวิตเพิ่มมากขึ้น เพราะบำนาญผู้สูงอายุจะช่วยให้คนไทยมีหลักประกันว่า แม้แก่ชราโดยไม่มีอาชีพ-ไม่มีบุตรหลานเลี้ยงดู ก็ยังจะมี ‘รายได้’ สำหรับประทังชีวิต
ในช่วงการเลือกตั้งนี้ หลากหลายพรรคการเมืองพยายามประโคมนโยบายหาเสียง หนึ่งในนั้นคือการสร้าง ‘ระบบบำนาญผู้สูงอายุ’
หากตัวเลขในขณะนี้ดูเหมือนจะมี ‘จุดร่วม’ ร่วมกันที่เดือนละ 3,000 บาท ส่วนรูปแบบการจ่าย ยังมีความแตกต่างในรายละเอียดกันออกไป
เวทีเสวนาวิชาการหัวข้อ “ระบบบำนาญแห่งชาติเพื่อความเป็นธรรมและยั่งยืน สู่นโยบายพรรคการเมืองด้านระบบความคุ้มครองทางสังคมในผู้สูงอายุ” ซึ่งจัดโดย ศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม (CRISP) คณะเศรษฐศาสตร์และศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เมื่อวันที่ 23 มี.ค. ที่ผ่านมา มีข้อเสนอในเรื่องนี้ที่น่าสนใจ
--- สร้าง ‘ความคุ้มครองทางสังคม’ แก่คนสูงวัย ---
ผศ.ดร.ศุภชัย ศรีสุชาติ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. บอกว่า การพัฒนาระบบบำนาญแห่งชาติเป็น ‘ความคุ้มครองทางสังคม’ ประเภทหนึ่งตามหลักวิชาเศรษฐศาสตร์สาธารณะ ซึ่งความคุ้มครองทางสังคม คือระบบหรือมาตรการคุ้มครองขั้นพื้นฐาน เพื่อช่วยป้องกันความเสี่ยงจากเคราะห์ร้าย ช่วยคุ้มครองไม่ให้กลายเป็นคนยากจน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ซึ่งในอนาคตไทยต้องเผชิญความเสี่ยงวิกฤตความยากจนในผู้สูงอายุ
นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ที่ระบุว่า ปัจจุบันเรามีข้อเสนอทางวิชาการเกี่ยวกับการสร้างหลักประกันรายได้ให้กับผู้สูงวัยแล้ว หนึ่งในนั้นมาจากมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 พ.ศ. 2565 เรื่อง “หลักประกันรายได้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ” โดยจำเป็นต้องขับเคลื่อนพร้อมกันทั้ง 5 องค์ประกอบหลัก (5 เสาหลัก) ซึ่งมีความสัมพันธ์และเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ
ประกอบด้วย 1. การพัฒนาผลิตภาพประชากร การมีงานทำและมีรายได้จากการทำงานที่เหมาะสมตลอดช่วงวัย 2. การออมระยะยาวเพื่อยามชราภาพที่เชื่อมโยงทั้งการออมของปัจเจกบุคคล และการออมรวมหมู่ที่ครอบคลุม เพียงพอ และยั่งยืน 3. เงินอุดหนุน (บำนาญ) และบริการสังคมที่จำเป็นจากรัฐ (บำนาญ)
4. การเข้าถึงหลักประกันสุขภาพโดยเฉพาะบริการสุขภาพระยะยาว (Long-term care) และ 5. การดูแลจากครอบครัว ชุมชน และท้องถิ่น โดยสามารถถอดบทเรียนความสำเร็จของการขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ที่เน้นความพร้อมทางวิชาการ การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคม และการตัดสินใจทางการเมือง มาเป็นฐานในการผลักดันนโยบายไปสู่รูปธรรมความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจริง
--- ‘อภิสิทธิ์’ เสนอขึ้น VAT เต็มเพดาน 10% ---
นอกจากนี้ ในเวทีเสวนาวิชาการยังมีมุมมอง-ข้อเสนอที่น่าสนใจจากฝ่ายการเมือง เริ่มจากอดีตนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ระบุว่า ทุกวันนี้ทั้งสังคมหรือพรรคการเมืองต่างเห็นร่วมกันแล้วว่า เราต้องการระบบสวัสดิการ ซึ่งหมายความว่าต้องมีกฎหมายรองรับเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนจะได้รับบำนาญตามเกณฑ์ที่กำหนด
“ต้องไม่ใช่เป็นเพียงนโยบายทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงได้ตามแต่ละยุคสมัยของรัฐบาล แต่ต้องทำให้เกิดเป็นระบบที่ยั่งยืน” นายอภิสิทธิ์ ระบุและย้ำว่า หลักการคือการสร้างสวัสดิการ ไม่ใช่การสงเคราะห์ และหากกำหนดเป็นหลักการแล้ว รัฐบาลจะต้องมีเงินมารองรับ ไม่เช่นนั้น เมื่อเริ่มจ่ายแล้วระบบก็จะล้มได้
นายอภิสิทธิ์ ยังได้แสดงความเห็นด้วยกับข้อเสนอของคณะผู้วิจัย คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. คือมีระบบความคุ้มครองขั้นพื้นฐานรองรับทุกคน ระบบวัยแรงงานสมทบเงินออม และระดับที่สาม คือการสะสมเงินออมสำหรับคนที่มีเงินมากตามความสมัครใจ
“สิ่งที่ภาคการเมืองต้องตอบสังคมให้ได้คือ จะนำเงินมาจากไหน เพราะประเทศไทยเก็บภาษีได้เหลือเพียง 13% ของ GDP” อดีตนายกรัฐมนตรี ตั้งคำถาม
อดีตนายกรัฐมนตรีรายนี้ ยังเห็นด้วยกับข้อเสนอด้านแหล่งเงินของคณะผู้วิจัย อาทิ การขยายฐานภาษี ภาษีฐานทรัพย์สินและการลดนโยบายที่เอื้อให้กับคนรวย (Pro-rich) ซึ่งจะกลายเป็นกลไกสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในสังคมลงได้
พร้อมกันนี้ ยังมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นการยกเลิกการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล เพราะการลดภาษีไม่ได้ช่วยทำให้เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภาคธุรกิจธนาคาร โทรคมนาคม พลังงาน และ อสังหาริมทรัพย์ 4 สาขา ที่จ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลเกือบ 50% ของทั้งหมด
“การลดภาษีก็คือเป็นการแจกเงินให้ผู้ถือหุ้นกับพนักงานในสาขาเหล่านั้น ประเด็นเหล่านี้ต้องนำมาเป็นส่วนประกอบของสมการทั้งหมด” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า หากวิเคราะห์ตัวเลขแล้วพบว่าขณะนี้ยังขาดเงินอีก 4-5 แสนล้าน ในการจัดทำระบบบำนาญผู้สูงอายุ ซึ่งการหารายได้เข้ารัฐนั้นมักมีการพูดถึงการเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เพราะเป็นทางเลือกที่ง่ายที่สุด แต่ VAT ก็เป็นภาษีที่เพิ่มความเหลื่อมล้ำ ทำให้เศรษฐกิจถดถอยและเติมเงินเฟ้อด้วย
ทั้งนี้ หากจะทำเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่ม ควรต้องดำเนินการแบบ Earmarked คือ ระบุวัตถุประสงค์ของการเก็บและใช้ภาษีส่วนนั้นเพื่อสวัสดิการจึงจะเป็นที่ยอมรับของสังคมได้ เนื่องจากปัจจุบันประชาชนไม่อยากจ่ายภาษีเพิ่ม เพราะไม่พอใจการใช้จ่ายภาษีของรัฐ แต่ถ้าประชาชนมีความชัดเจนว่า 1 บาทที่จ่าย จะเข้าไปเติมเงินในบัญชีเงินออมของเขา อันนี้มีความเป็นไปได้
“ความจริงเพดานอัตรา VAT ของเราคือ 10% แต่เมื่อ 21 ปีที่แล้ว เราลดชั่วคราวเหลือ 7% และยังเป็นอัตราชั่วคราวมาจนถึงปัจจุบัน เพราะฉะนั้น ผมว่ามันมีเหตุผลมากที่จะเพิ่มกลับไปที่ 10% โดย 3% นั้นถูก
earmarked ให้เป็นเงินออมของทุก ๆ คน สัดส่วนเพียง 3% ก็ได้มาประมาณกว่า 2 แสนล้านบาท” นายอภิสิทธิ์ เสนอ
“ถ้าเก็บ VAT ต่ำกว่านั้น ก็อาจกำหนดให้คนที่ได้เกินจากบำนาญประกันสังคมยังไม่ต้องรับบำนาญก่อน คือให้เฉพาะคนที่ไม่มี หรือคนที่อยู่นอกระบบ เช่น เกษตรกร และผู้สูงอายุที่ไม่มีหลักประกัน ตรงนี้ก็จะอยู่ในวิสัยที่สามารถทำได้
“จากนั้นก็ออกกฎหมายกำหนดว่าเบี้ยยังชีพที่เหมาะสมมีความคุ้มครองขั้นต่ำเท่าใด เช่น อ้างอิงจากเส้นความยากจน เงินส่วนหนึ่งมาจาก earmarked ที่มาจากการบังคับออม แล้วเติมอีกส่วนจากการปรับระบบภาษีและการจัดระบบงบประมาณให้เหมาะสม” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
อดีตนายกรัฐมนตรี ย้ำว่า ความเร่งด่วนในวันนี้ไม่ใช่เรื่องสังคมยังไม่ตื่นตัว แต่ต้องมุ่งไปที่ 2 ประเด็นในการขับเคลื่อน ได้แก่ 1. เมื่อเป็นผู้สูงอายุแล้วจะมีสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐบาลชุดใดก็เบี้ยวไม่ได้ เช่น อ้างว่าไม่มีเงินไม่ได้ จึงขอให้ทุกพรรคการเมืองเข้าสู่สนามเลือกตั้งโดยให้แสดงความชัดเจนว่า เป็นสวัสดิการจริง ๆ ไม่ใช่ระบบสงเคราะห์ 2. พรรคการเมืองต้องตอบคำถามว่า จะหาแหล่งรายได้มาจากไหน เพราะถ้าไม่พยายามบังคับให้พรรคการเมืองชี้แจง ทุกอย่างจะกลับไปข้อ 1 คือ เลือกตั้งเสร็จ ก็พยายามทำที่ได้หาเสียงไว้ แต่สามารถให้เท่าที่ให้ได้ โดยไม่ได้พยายามสร้างระบบที่ยั่งยืน
--- ‘เดชรัต’ เสนอพัฒนาแบบเป็นขั้นตอน พร้อมเสนอแหล่งรายได้ให้ชัดเจน ---
สอดคล้องกับ ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ Think Forward Center พรรคก้าวไกล ที่เห็นด้วยกับการกำหนดเรื่องบำนาญผู้สูงอายุเป็นกฎหมาย เพราะไม่อยากให้เรื่องนี้กลายเป็นแค่ประเด็นหาเสียง ส่วนตัวเห็นว่าตัวเลข 3,000 บาท เป็นตัวเลขที่สังคมยอมรับและสอดคล้องกับที่ภาคประชาชนเสนอ นอกจากนี้ควรจะมีกองทุนดูแลผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง 200 บาท/คน/เดือน เพื่อดูแลผู้ป่วยติดเตียงด้วย เพราะความยากจนในผู้สูงอายุมาจาก 1. หนี้สินจากอาชีพ 2. การป่วยติดบ้านติดเตียง
สำหรับอาจารย์เดชรัต การสร้างบำนาญผู้สูงอายุ หากกำหนดตัวเลขไว้ที่ 3,000 บาท จำต้องใช้งบประมาณราว 4.2 แสนล้าน ซึ่งหากจ่ายในอัตรา 3,000 บาทจริง จะช่วยให้ผู้สูงอายุที่อยู่ในเส้นความยากจนจากเดิม 6% จะสามารถลดลงเหลือ 1% แต่ถ้าอัตรา 2,000 บาท จะเหลืออยู่ที่ 2%
อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องใช้เวลาในการพัฒนาศักยภาพในการหารายได้ ดังนั้นจึงต้องขึ้นเป็นขั้นบันได เช่น จาก 600 บาท/เดือน เป็น 1,500 บาท/เดือนในปีแรก แล้วจึงเพิ่มขึ้นจนไปถึงเป้าหมาย 3,000 บาท/เดือน ภายในปี 2570
ในส่วนของการหารายได้รัฐ ดร.เดชรัต กล่าวว่า รายได้ที่จะนำมาสร้างระบบบำนาญนั้นต้องใช้ช่องทางในการปรับภาษี ดังนี้คือ 1. ขึ้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับผู้ประกอบการรายใหญ่ ส่วนรายย่อยต้องลดลง ซึ่งจะนำมาสู่รายได้ราว 9 หมื่นล้านบาท 2. ปรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และการลดหย่อนภาษี 3. ปรับภาษีที่ดินแบบรวมแปลงและรายแปลง ในส่วนนี้จะได้เงินประมาณ 1.5 แสนล้านบาท และ 4. ปรับภาษีความมั่งคั่งเป็น 0.5% หรือ โดยจะให้ได้เงินราว 6 หมื่นล้านบาท 5. ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เช่น ลดงบกองทัพ ซึ่งจะลดได้ประมาณ 2 แสนล้านบาท
--- ก้าวต่อไปในมุมมองนักเศรษฐศาสตร์ มธ. ---
ศ.ดร.เอื้อมพร พิชัยสนิธ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกว่า ประเด็นการสร้างระบบบำนาญผู้สูงอายุนั้นภาควิชาการได้เสนอมานานแล้ว จึงจำเป็นต้องให้ภาคการเมืองทำให้เกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติ
สำหรับประเด็นที่อยากจะชวนคิด ได้แก่ 1. ความเป็นธรรมในมุมมองของประชาชนที่แท้จริง ไม่ใช่ของนักวิชาการหรือนักการเมือง จึงต้องสร้างการตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมถึงทางเลือกสวัสดิการต่าง ๆ ทำให้ประชาชนทราบว่า มีฝั่งที่ได้แล้ว ก็มีฝั่งที่ต้องจ่าย จึงตกผลึกทางความคิดว่า เราต้องการโมเดลแบบไหน
“ไม่ใช่เฉพาะเรื่องอัตราควรจะเป็นเท่าไหร่ แต่เรามองภาพใหญ่ว่า เราจะมีจุดร่วมอย่างไร ต้องการสวัสดิการแบบไหนในองค์รวม เพื่อเป็นสัญญาณให้ฝ่ายการเมืองทราบความต้องการของประชาชน ตัวอย่างเช่น ยุโรปเหนือ สะท้อนฉันทามติผ่านทางการเมือง แต่ถ้าเป็นประเทศที่เน้นระบบตลาด ก็สะท้อนผ่านกระบวนการทางการเมืองในการเลือกตั้ง” ศ.ดร.เอื้อมพร กล่าว
ศ.ดร.เอื้อมพร กล่าวอีกว่า สำหรับประเทศไทย ขณะนี้ยังมีหลากหลายความคิด คุยประเด็นย่อย แต่ยังไม่มีประชามติที่ชัดเจนเกี่ยวกับทิศทาง จึงจำเป็นจะต้องมาเป็นชุด package ว่า จะเอาภาษีมาจากไหน ดังนั้นในระยะยาว จะต้องกระตุ้นการตระหนักรู้ของสังคมเพื่อให้เกิดการตกผลึกทางความคิด
“ในยุคข่าวสารข้อมูล พรรคการเมืองต้องจริงใจ เสนอข้อเท็จจริงและข้อจำกัดของข้อเสนอนโยบาย จึงจะเกิดขึ้นมาอย่างเป็นธรรมที่แท้จริง ในมุมมองของประชาชน” นักเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ กล่าว
2. ความยั่งยืนจำเป็นต้องครอบคลุมการเกิดผลในระยะสั้นและระยะยาว เพราะในมุมนักวิชาการ เน้นระยะยาว และ optimal ส่วนในมุมนักการเมือง เน้นที่ quick win ระยะสั้น เพราะข้อจำกัดเรื่องเวลา ดังนั้น นักการเมืองควรต้องยอม trade-off มามองระยะยาวด้วย เพื่อรุ่นลูกหลานและตัวท่านเองในระยะยาว
ศ.ดร.เอื้อมพร ย้ำว่า กรณีระบบบำนาญแห่งชาติ ต้องคำนึงเรื่อง transition เช่น นโยบายการออมในระยะยาว แต่ระยะสั้นก็ต้องมีผลเกิดขึ้นเป็นรูปธรรม เช่น การขยายฐานกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) และ ควรมีพื้นที่เพิ่มเติมการอุดหนุนให้ผู้สูงอายุ หากจะให้เกิดความยั่งยืนของนโยบายในระยะยาว จะต้องครอบคลุมผลทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยความร่วมมือของทุกภาคส่วน
ที่สุดแล้ว ในการเสวนาครั้งนี้ ผู้ร่วมเสวนายังเห็นพ้องในหลักการร่วมกันว่า สิ่งที่จำเป็นหรือนับเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จในการขับเคลื่อนนโยบายบำนาญแห่งชาติ คือการทำให้เจตนารมณ์ทางสังคมสามารถเกิดขึ้นเป็นจริงด้วยนโยบายจากพรรคการเมือง
ศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
Center for Research on Inequality and Social Policy - CRISP.
No comments:
Post a Comment