กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แนะนักวิ่งให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของตนเองเป็นอันดับแรกควรเตรียมความพร้อมร่างกายก่อนการแข่งขัน และโดยเฉพาะผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคปอดเรื้อรัง ควรปรึกษาแพทย์ก่อนลงแข่งขันทุกครั้งเพื่อป้องกันการหมดสติหรือเสียชีวิตขณะวิ่ง
วันนี้ (7 มิถุนายน 2566) นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า วันพุธแรกในเดือนมิถุนายนของทุกปีเป็นวันวิ่งโลก (Global Running Day) ซึ่งปีนี้ตรงกับวันพุธที่ 7 มิถุนายน 2566 ปัจจุบันการออกกำลังกายด้วยการวิ่งเป็นที่นิยมเพิ่มมากขึ้นในประเทศไทย จากการดำเนินงานเฝ้าระวังของกองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กรณีภาวะวิกฤตหัวใจและหลอดเลือด ฮีทสโตรก หรือการเสียชีวิตขณะวิ่งในงานวิ่ง โดยในปี 2565 จากการจัดงานวิ่ง 832 งาน พบเหตุการณ์หมดสติในงานวิ่งจำนวน 24 ราย เสียชีวิต 1 ราย พบหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันถึง 11 ราย ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย มีอายุระหว่าง 50-59 ปี โดย 23 รายที่หมดสติรวมถึงผู้เสียชีวิตเป็นนักวิ่ง นักกีฬา หรือผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำ ระยะทางขณะวิ่งที่เกิดเหตุการณ์มากที่สุดคือ ระยะทางสุดท้ายก่อนเข้าเส้นชัย (Quarter 4) และส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าตนเองมีโรคประจำตัว หรือมีโรคประจำตัวอยู่แล้วแต่ขาดการรักษาทานยาไม่ต่อเนื่อง สาเหตุที่ทำให้นักวิ่งหมดสติหรือเสียชีวิต ได้แก่ 1.การเร่งทำลายสถิติตนเอง 2.ดื่มน้ำไม่เพียงพอ 3.รับประทานยาที่มีฤทธิ์กดการเต้นของหัวใจ 4.การฝึกฝนที่ไม่เพียงพอต่อระยะทางที่ลงแข่งขัน 5.ความถี่ของการลงแข่งขันที่บ่อยและหักโหมเกินไป ดังนั้นนักวิ่งต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของตนเองเป็นอันดับแรก และสำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อกำหนดรูปแบบการวิ่ง ให้เหมาะสมกับตนเอง
นายแพทย์ดิเรก ขำแป้น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การวิ่งเป็นการออกกำลังกายที่ดีช่วยให้ร่างกายแข็งแรง แต่การวิ่งมาราธอนที่ขาดการเตรียมตัวหรือหักโหมเกินไปในสภาพแวดล้อมที่มีความเสี่ยง จะทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือเกิดภาวะวิกฤตได้ ข้อแนะนำก่อนการลงแข่งขันสำหรับนักวิ่ง ดังนี้ 1.เตรียมพร้อม ฝึกฝนร่างกายให้เพียงพอกับระยะทางการลงแข่งขัน 2.ไม่ลงแข่งขันวิ่งระยะทางไกลในช่วงเวลาที่ติดต่อกันมากเกินไป 3.สวมใส่เสื้อผ้าที่เหมาะสม 4.ไม่ควรรับประทานยาที่มีฤทธิ์กดการเต้นของหัวใจทั้งก่อนวิ่งและขณะวิ่ง 5.นักวิ่งที่มีโรคประจำตัวควรปรึกษาแพทย์ก่อนลงแข่งขันทุกครั้ง 6.นอนพักผ่อนให้เพียงพอก่อนวันวิ่ง 7.ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี 8.ให้ข้อมูลสุขภาพที่เป็นจริง เพื่อประโยชน์กับทีมแพทย์ในการเตรียมความพร้อมให้การดูแล และเฝ้าระวังเหตุการณ์ฉุกเฉินทางการแพทย์ 9.ตรวจสอบอุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ และค่าฝุ่น PM2.5 ล่วงหน้าก่อนถึงวันแข่งขันจริง เพื่อเตรียมพร้อมร่างกาย วางแผนการดื่มน้ำระหว่างวิ่งให้เหมาะสม 10.หากมีอาการ แน่นหน้าอกหรือหน้ามืด ควรหยุดพักและแจ้งหน่วยแพทย์ในงานวิ่งทันที
นายแพทย์กฤษฎา หาญบรรเจิด ผู้อำนวยการกองโรคไม่ติดต่อ กล่าวเพิ่มเติมว่า การวิ่งครั้งละ 30 นาที 5 ครั้งต่อสัปดาห์ จะช่วยให้หัวใจแข็งแรงขึ้น ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคไม่ติดต่อ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคอ้วนลงพุง โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคมะเร็ง เป็นต้น นอกจากนี้ยังช่วยกระตุ้นการทำงานของสมอง ลดเสี่ยงอัลไซเมอร์ ช่วยให้อารมณ์ดี และที่สำคัญนอนหลับได้ดีขึ้น จึงขอเชิญชวนให้ประชาชนหันมาออกกำลังกายอย่างน้อย 150 นาที/สัปดาห์เพื่อสุขภาพที่ดี การวิ่งที่ดี คือไม่วิ่ง ระยะทางไกลมากเกินไป ไม่วิ่งเร็วเกินไป ไม่วิ่งติดต่อกันจนเกินไป ควรเว้นวันพักผ่อนให้เหมาะสมกับระยะทาง และต้องวิ่งอย่างปลอดภัยโดยการเตรียมความพร้อมก่อนลงแข่งขัน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน กรมควบคุมโรค โทร.1422
************************
ข้อมูลจาก : กองโรคไม่ติดต่อ/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 7 มิถุนายน 2566
No comments:
Post a Comment