กรมการพัฒนาชุมชนผนึกพันธมิตร CEA และหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน รวม 15 หน่วยงาน MOU บูรณาการเชิงรุก ชูสุดยอดนักสร้างสรรค์ สร้างโอกาส เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทย
วันที่ 20 มิถุนายน 2566 นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบกรมการพัฒนาชุมชน ร่วมพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ "Creative Business Transformation" กับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA นำโดย ดร. ชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) พร้อม 15 ภาคีเครือข่ายพันธมิตร ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ "Creative Business Transformation" ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยผ่านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ตอกย้ำจุดยืน สร้างโอกาส ผลักดัน Soft Power ส่งเสริมสุดยอดการสร้างมูลค่าเพิ่มและปรับทิศทางอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในอนาคต โดยมีนายวรงค์ แสงเมือง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และผู้บริหารกรมการพัฒนาชุมชน ร่วมเป็นเกียรติฯ ณ Gallery, Back Lobby TCDC อาคารไปรษณีย์กลาง ถนนเจริญกรุง กรุงเทพฯ
นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ เปิดเผยว่า กรมการพัฒนาชุมชน ได้ดำเนินโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ One Tambon One Product (OTOP) เป็นการนำภูมิปัญญาที่มีอยู่มาพัฒนาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ จำหน่ายสร้างรายได้ให้กับตนเอง ครอบครัวและชุมชน ซึ่งดำเนินงานมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 จนถึงปัจจุบัน โดยหน่วยงานภาครัฐให้การสนับสนุนช่วยเหลือด้านความรู้ เทคโนโลยี ทุน การบริหารจัดการ เชื่อมโยงสินค้าจากชุมชนไปสู่ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างงานและเพิ่มรายได้ให้แก่ชุมชน เสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนให้สามารถคิดเองทำเองในการพัฒนาท้องถิ่น ส่งเสริมการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และส่งเสริมความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของชุมชนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยสอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมในท้องถิ่น โดยกรมการพัฒนาชุมชน ได้ส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ให้ผู้ผลิต ผู้ประกอบการในชุมชนได้นำผลิตภัณฑ์ ที่เกิดจากภูมิปัญญาและความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ โดยเป็น Soft Power ของแต่ละชุมชน เช่น อาหาร ผ้า เครื่องแต่งกาย มาขึ้นทะเบียน OTOP ผ่านช่องทางต่าง ๆ และกลไกของหน่วยงานภายใต้สังกัดสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอ เพื่อนำไปสู่กระบวนการพัฒนาศักยภาพของผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพ มาตรฐาน สร้างมูลค่าเพิ่ม แบ่งเป็นประเภทผลิตภัณฑ์ตามคลัสเตอร์ ประกอบด้วย 1. ประเภทอาหาร 2. ประเภทเครื่องดื่ม 3. ประเภทผ้า เครื่องแต่งกาย 4. ประเภทของใช้ ของตกแต่ง ของที่ระลึก และ 5. ประเภทสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร ซึ่งปัจจุบัน มีผู้ผลิตผู้ประกอบการที่มาขึ้นทะเบียน OTOP จำนวน 99,169 ราย 223,620 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชน ได้ส่งเสริมสนับสนุน และพัฒนาศักยภาพของผู้ผลิตผู้ประกอบการ พัฒนาผลิตภัณฑ์ และสร้างช่องทางการตลาด ผ่านการดำเนินงานโครงการกิจกรรมต่าง ๆ เช่น โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนตามคลัสเตอร์ โครงการส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไทยให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
นายอรรษิษฐ์ กล่าวเสริมว่า สำหรับพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ "Creative Business Transformation" ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมผลักดันและยกระดับสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) และผลิตภัณฑ์ชุมชนอื่น ๆ ที่มีศักยภาพสูงเชื่อมโยงสู่สากล ผ่านบูรณาการด้านการจัดโครงการและร่วมกิจกรรมร่วมกัน การแลกเปลี่ยนหรือส่งต่อผู้ประกอบการผู้เชี่ยวชาญให้เข้าถึงโอกาสในการพัฒนาศักยภาพการดำเนินธุรกิจ การมีพื้นที่ร่วมกันจัดงานแสดงสินค้าและบริการ ตลอดจนการเชื่อมโยงสู่ธุรกิจ การตลาดทั้งในประเทศและตลาดต่างประเทศ พร้อมนำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยแนวทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของแต่ละชุมชน และร่วมสนับสนุนพัฒนาองค์ความรู้ เสริมสร้างทักษะ กระบวนการคิดเชิงออกแบบ วิธีการดำเนินการ ตลอดจนกระบวนการพัฒนา OTOP โดยบูรณาการผู้คน พื้นที่ ชุมชน ธุรกิจและสินค้า ด้วยแนวทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างเป็นระบบให้แก่ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ชุมชน
ดร. ชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) กล่าวว่า ตลอดช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมานั้น เศรษฐกิจสร้างสรรค์มีความสำคัญเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในการนำมาใช้เป็นกลไก ผลักดันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจบนพื้นฐานของการสร้างสรรค์และใช้องค์ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์และทรัพย์สินทางปัญญาที่เชื่อมโยงกับพื้นฐานทางวัฒนธรรม การสั่งสมความรู้ของสังคม เทคโนโลยีและนวัตกรรม ในการผลิตสินค้าและบริการใหม่ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ โดยในช่วงปี 2563 -2564 จากประมาณการขององค์การยูเนสโกในปี 2563 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ทั่วโลกมีมูลค่าลดลงกว่า 24.8 ล้านล้านบาท ส่วนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทย 15 สาขา มีมูลค่าลดลงร้อยละ 23 อยู่ที่ 1.19 ล้านล้านบาท ซึ่งในฐานะหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ CEA ได้ดำเนินมาตรการพัฒนาศักยภาพของกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจสร้างสรรค์ และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ให้สามารถแข่งขันได้ระดับสากล และก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ทั้งในแง่ของระบบเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีดิจิทัล ที่มีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต ซึ่งในการดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์นั้นมีด้วยกันหลายรูปแบบ การจัดพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ "Creative Business Transformation" โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ร่วมกับภาคีเครือข่ายพันธมิตร 15 หน่วยงานครั้งนี้ จึงเป็นก้าวสำคัญของความร่วมมือในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศไทย
สำหรับพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ "Creative Business Transformation"
ในครั้งนี้เกิดจากความร่วมมือทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆโดยมีด้วยกัน 4 มิติหลัก ได้แก่
1. ความร่วมมือด้านเครือข่ายธุรกิจชุมชน องค์ความรู้การจัดการธุรกิจ การขายและการตลาด ที่จะร่วมกันศึกษาและส่งเสริมความต้องการทางการตลาดในระดับประเทศและต่างประเทศ โดยได้รับความร่วมมือจาก วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU), กรมการพัฒนาชุมชน (พช.) กระทรวงมหาดไทย และบริษัท Shopee (ประเทศไทย) จำกัด
2. ความร่วมมือด้านองค์ความรู้และเทคโนโลยี ที่จะนำการปรับใช้เทคโนโลยีเพื่อตอบโจทย์อนาคตธุรกิจและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ โดยได้รับความร่วมมือจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และบริษัทปตท.จำกัด (มหาชน)
3. ความร่วมมือด้านการเข้าถึงแหล่งทุน เป็นการร่วมกันกำหนดแนวทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ โดยได้รับความร่วมมือจาก ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank), สินวัฒนา คราวด์ฟันดิ้ง, ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME D Bank) และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA)
4. ความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมคอนเทนต์ เป็นการร่วมกันกำหนดแนวทางการสนับสนุนคอนเทนต์ไทยสู่ตลาดสากล โดยได้รับความร่วมมือจาก บริษัท เน็ตฟลิกซ์ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัทลิขสิทธิ์ดนตรี (ประเทศไทย) จำกัด, สมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจบันเทิงไทย,สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ, สมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ และสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย
No comments:
Post a Comment