1 มิถุนายน 2566 เวลา 10.00 น. ณ โรงแรม ซี.เอส. ปัตตานี อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี
นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน มอบหมายให้นางสาวณัฐนิช อินทสระ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชน ชี้แจงวัตถุประสงค์การอบรมเชิงปฏิบัติการด้านการออกแบบแปรรูปผลิตภัณฑ์ผ้าและเครื่องแต่งกาย และการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าและเครื่องแต่งกายผ้าบาติก ตามโครงการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ผ้าบาติก “บาติกโมเดล” สู่ตลาดสากล โดยได้รับเกียรติจาก นางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี นายธีรวิทย์ กู้เกียรติ พัฒนาการจังหวัดปัตตานี นายสงัด พืชพันธุ์ พัฒนาการจังหวัดกระบี่ นางสาวณัฐชยา ศรีดำ ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน ผู้แทนพัฒนาการจังหวัดนราธิวาส ผู้อำนวยการกลุ่มงาน พัฒนาการอำเภอในพื้นที่จังหวัดปัตตานี โดยมีที่ปรึกษาโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” และผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทยและการออกแบบผลิตภัณฑ์ การย้อมสีธรรมชาติ อาทิ นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย นายศิริชัย ทหรานนท์ นักออกแบบและเจ้าของแบรนด์ THEATRE นายภูภวิศ กฤตพลนารา นักออกแบบและเจ้าของแบรนด์ ISSUE ดร.กรกลด คำสุข รองคณบดีฝ่ายนวัตกรรมทางปัญญาและวิจัย วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ผศ.ดร.รวิเทพ มุสิกะปาน ประธานหลักสูตรแฟชั่น สิ่งทอและเครื่องตกแต่ง วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ดร.นวัทตกร อุมาศิลป์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตเส้นใยและการย้อมสีธรรมชาติ และวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ การตลาด และการแปรรูป ร่วมกิจกรรมฯ
นางสาวณัฐนิช อินทสระ กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ดำเนินงานโครงการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ผ้าบาติก “บาติกโมเดล” สู่ตลาดสากล เพื่อเผยแพร่พระอัจฉริยภาพของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ด้านการออกแบบเครื่องแต่งกาย สิ่งทอและการอนุรักษ์ผ้าไทย ให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ มีเทคโนโลยีสมัยใหม่ ในการพัฒนาต่อยอดสร้างรายได้เพิ่มให้กับชุมชน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนารูปแบบและยกระดับศักยภาพผลิตภัณฑ์ผ้าบาติก เป็นต้นแบบในการพัฒนาสินค้า อัตลักษณ์ มรดกทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาการออกแบบลายผ้า การย้อมสีธรรมชาติ เทคนิคต่าง ๆ มานำเสนอหรือสร้างสรรค์ มีเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการพัฒนาต่อยอดสร้างรายได้เพิ่มให้กับชุมชน พัฒนาทักษะ องค์ความรู้ การออกแบบผลิตภัณฑ์ผ้าบาติก การแปรรูปผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น สามารถตอบสนองต่อความต้องการของตลาด ขยายตลาดเชิงพาณิชย์นำไปสู่ตลาดสากล และเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ้าบาติกให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย โดยได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย และดีไซนเนอร์ชั้นนำของประเทศ ลงพื้นที่ร่วมถ่ายถอดองค์ความรู้ในการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ รวมถึงการออกแบบดีไซน์ให้มีความร่วมสมัย เทคนิคการใช้สีธรรมชาติในการทำลวดลายลงบนผืนผ้า ทำให้กลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP และสมาชิกกลุ่มฯ สามารถนำไปออกแบบเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์ของตนเองให้มีความร่วมสมัย และนำไปประยุกต์ปรับเปลี่ยนเพื่อความเหมาะสมกับยุคสมัยได้อย่างสวยงาม นำไปสู่การสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้กับช่างทอผ้าทุกท้องถิ่น ท้องที่ และเป็นต้นแบบในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไทยให้เป็นที่ประจักษ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างยั่งยืน และยังเป็นแบบอย่างในเรื่องการพัฒนาชุมชนโดยให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมตามหลัก Bio-Circular-Green Economy: BCG สร้างความตระหนักให้รู้ถึงผลกระทบจากการใช้สีเคมีที่จะเกิดขึ้นกับคนทอผ้า คนย้อมผ้า และผู้สวมใส่ พร้อมทั้งส่งเสริมให้เกิดการปลูกพืชให้สีชนิดต่าง ๆ ยังผลให้เกิดความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมในทุกมิติ
นางสาวณัฐนิช กล่าวต่อว่า นับเป็นพระกรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชทานผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” ด้วยทรงมีความรักความผูกพัน และความห่วงใยราษฎรของพระองค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่น้องประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ซึ่งมีวิถีชีวิตที่แวดล้อมไปด้วยความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายของระบบนิเวศ ด้วยทรงมุ่งมั่นในการสืบสาน รักษา และต่อยอด หลักการทรงงานและแนวทางอันเนื่องมาจากพระราชดำริของสมเด็จพระเจ้านางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อทำให้พี่น้องประชาชนคนไทยได้มีอาชีพ มีรายได้จากภูมิปัญญาอัตลักษณ์งานหัตถศิลป์หัตถกรรมที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ และพัฒนาต่อยอดโดยพระราชทานโครงการพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้น้อมนำมาเป็นแนวทางขับเคลื่อนการส่งเสริมพัฒนาทักษะของผู้ประกอบการผ้าอย่างต่อเนื่อง ที่จะสามารถยกระดับ พัฒนาศักยภาพตนเองให้เป็นผู้ผลิต ผู้ประกอบการที่มีองค์ความรู้ สามารถนำไปต่อยอดและพัฒนาภูมิปัญญาที่มีอยู่ ให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดสากล และผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า หลังจากผ่านการฝึกอบรมแล้ว ผู้เข้ารับการอบรมทุกท่าน จะได้นำความรู้ ความสามารถ หรือประสบการณ์ที่ได้รับจากการฝึกอบรม ไปใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความสร้างสรรค์ ทันสมัย โดดเด่นด้วยอัตลักษณ์ ตลอดจนเข้าถึงช่องทางการตลาด ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยไม่ทิ้งรากเหง้าของภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่บรรพบุรุษได้สั่งสมมา นำไปสู่การสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับครอบครัว และชุมชน ได้อย่างต่อเนื่อง และยั่งยืน
ทั้งนี้ การดำเนินโครงการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ผ้าบาติก “บาติกโมเดล” สู่ตลาดสากล ประกอบด้วย 4 กิจกรรม คือ กิจกรรมที่ 1 พัฒนาทักษะองค์ความรู้การออกแบบผลิตภัณฑ์ผ้าบาติก และการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ กิจกรรมที่ 2 พัฒนายกระดับผลิตภัณฑ์ผ้าและเครื่องแต่งกาย กิจกรรมที่ 3 จัดกิจกรรมทดสอบตลาด การประชาสัมพันธ์ การจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ่านระบบ Online และ/หรือวิธีการอื่น ๆ ที่เหมาะสม และกิจกรรมที่ 4 ติดตามสนับสนุนผู้ประกอบการผ้าบาติก สำหรับการอบรมเชิงปฏิบัติการฯ ในครั้งนี้ มีระยะเวลาดำเนินการ จำนวน 3 วัน ระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม – 2 มิถุนายน 2566 กลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 7 กลุ่ม กลุ่มละ 20 คน รวมจำนวน 140 คน ประกอบด้วย
1) จังหวัดกระบี่ จำนวน 2 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มไฑบาติก และ2) กลุ่มเก๋บาติก
2) จังหวัดนราธิวาส จำนวน 2 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มนินาปาเต๊ะ และ 2) กลุ่มซาโลมาปาเต๊ะ
3) จังหวัดปัตตานี จำนวน 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มบาติก เดอ นารา 2) กลุ่มยาริงบาติก และ 3) กลุ่มรายาบาติก
#กระทรวงมหาดไทย
#กรมการพัฒนาชุมชน
#ผ้าไทยใส่ให้สนุก
#MOI
#SDGTH
No comments:
Post a Comment