โลกยุค ‘ความรู้อายุสั้น คนอายุยาว’ ต้องไม่เชื่อว่า ‘ยิ่งเรียนเยอะจะยิ่งฉลาด’ มหา’ลัย ต้องสร้างการเรียนรู้ทุกช่วงวัย - Go Ahead News

Go Ahead News

ก้าวไปข้างหน้ากับเรา

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Tuesday, April 25, 2023

โลกยุค ‘ความรู้อายุสั้น คนอายุยาว’ ต้องไม่เชื่อว่า ‘ยิ่งเรียนเยอะจะยิ่งฉลาด’ มหา’ลัย ต้องสร้างการเรียนรู้ทุกช่วงวัย





รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มธ. เผย ปัจจุบันโลกกำลังเข้าสู่ยุค ‘ความรู้อายุสั้น คนอายุยาว’ มหาวิทยาลัยควรส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ ‘ทุกช่วงวัย’ – ‘Upskill-Reskill’ เพื่อรองรับงานทักษะใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น แนะรัฐบาลชุดใหม่ ให้ความสำคัญกับการจัดการงบประมาณและเปลี่ยนหลักสูตรการศึกษาให้เท่าทันโลก 


รศ.ดร.พิภพ อุดร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้โลกกำลังอยู่ในยุคที่ ‘ความรู้อายุสั้น คนอายุยาว’ กล่าวคือ อัตราการเกิดน้อย แต่อัตราการตายกลับน้อยยิ่งกว่า ทุกวันนี้คนสามารถอายุยืนได้ถึง 100 ปี คำถามคือเราจะเตรียมความพร้อม องค์ความรู้ และทักษะการใช้ชีวิตหลังเกษียณอย่างไร มากไปกว่านั้น การเกิดขึ้นของเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ จะทำให้งานที่เคยมีอยู่เดิมกว่า 85 ล้านตำแหน่ง หายไปในระยะเวลา 5 ปี และจะเกิดงานรูปแบบใหม่ๆ ขึ้นมาทดแทนอีก 97 ล้านตำแหน่ง ตรงนี้เป็นสิ่งที่สถาบันการศึกษาต้องปรับตัวให้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงในอนาคต


รศ.ดร.พิภพ กล่าวว่า งานรูปแบบใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นจำเป็นต้องอาศัยทักษะใหม่ ปัญหาคือทรัพยากรบุคคลที่มีทักษะใหม่ๆ นั้นยังขาดแคลน ทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า double jeopardy หรือ ความอันตรายสองเท่า ซึ่งมหาวิทยาลัยจะต้องเป็นผู้ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาเหล่านี้ด้วยการให้ความสำคัญกับเรื่องการ ‘upskill – reskill’ มหาวิทยาลัยจึงไม่ควรเป็นพื้นที่ให้กับแค่เด็กมัธยมที่กำลังจะก้าวเข้าสู่มหาวิทยาลัย แต่ควรเป็นพื้นที่พัฒนาศักยภาพให้กับ ‘คนทุกช่วงวัย’ ด้วยเช่นกัน


“หลักการสำคัญของการจัดการศึกษาสมัยใหม่ คือ อย่าเก็บเด็กไว้ในมหาวิทยาลัยนานจนเกินไป    ควรให้เรียนเท่าที่จำเป็นแล้วสนับสนุนให้เขาได้ออกไปเจอโลกภายนอก-โลกของการทำงานให้เร็วที่สุด และเมื่อออกไปเร็วแล้ว ก็ต้องมีระบบให้เขากลับเข้าระบบให้ง่ายที่สุด คือเมื่อออกไปเจอของจริงแล้ว ก็ต้องมีพื้นที่ให้เขากลับมาเติมความรู้ที่ยังขาดด้วย ฉะนั้นมหาวิทยาลัยจะต้องทลายกำแพงห้องเรียนออกเพื่อพัฒนาให้สอดคล้องกับยุคที่คนสามารถเรียนรู้จากที่ไหนก็ได้ (e-Learning) ความรู้ในมหาวิทยาลัยต้องสามารถเปิดให้คนภายนอกมาเรียนและเลือกเรียนตามความสนใจของตนเองได้ โดยไม่ต้องคำนึงถึงใบปริญญา” รศ.ดร.พิภพ กล่าว


รศ.ดร.พิภพ กล่าวอีกว่า สิ่งที่รัฐบาลควรดำเนินการ คือเรื่องงบประมาณสนับสนุนและเงื่อนไขของการให้งบ รัฐบาลควรทำให้อยู่ในรูปแบบที่เรียบง่าย โดยอาจแบ่งเงินเป็น 2 ก้อน ได้แก่ 1. งบ Mission Based ได้งบเท่าไหร่คิดจากจำนวนเด็กนักเรียน และ 2. งบ Performance Based ถ้ามหาวิทยาลัยทำงานได้ดี มีคุณภาพ บรรลุตามเป้าหมายก็ได้งบประมาณในส่วนนี้เพิ่ม โดยรัฐบาลต้องกำกับให้น้อยที่สุด มีความยืดหยุ่นมากที่สุด และทุกอย่างให้ดูที่ผลลัพธ์ของการทำงาน


นอกจากนี้ สิ่งที่รัฐควรสนับสนุนอีกก็คือ การเปิดให้สถาบันอุดมศึกษาสามารถร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ในเรื่องของพาร์ตเนอร์ชิปให้กว้างขึ้น เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ เพราะหลายบริษัทมีความเก่งเทคโนโลยีก้าวไกลในเรื่องการวิจัยและพัฒนา สิ่งเหล่านี้ควรจะร่วมมือกันและเอาความรู้ทั้งภาคปฏิบัติกับภาคของการศึกษาผสมผสานเข้าด้วยกัน แล้วเปิดให้คนสามารถที่จะพัฒนาตัวเองได้


“ประเด็นที่ใหญ่ที่สุดคือการปรับหลักสูตร เด็กไทยขึ้นชื่อว่ามีชั่วโมงเรียนมากที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ของโลกแต่คุณภาพกับสวนทาง เพราะหลักสูตรการศึกษาไทยเน้นการเรียนเพื่อจำมากกว่าที่จะเรียนให้คิด ประเทศไทยควรพัฒนาให้นักเรียนเรียนรู้รอบด้านและตั้งคำถามได้ หน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการต้องทำให้หลักสูตรมีความสมดุล สิ่งสำคัญคือต้องไม่เชื่อว่ายิ่งเด็กเรียนเยอะจะยิ่งฉลาด” รศ.ดร.พิภพ กล่าว


นอกจากนี้ รัฐบาลชุดใหม่จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากการควบรวมโรงเรียนในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา เพราะโดยทิศทางแล้วจะมีการควบรวมมากขึ้น โจทย์คือเมื่อควบรวมแล้ว มีงบประมาณเพิ่มขึ้นแล้ว จะทำอย่างไรให้ทั้งครู วิธีการสอน มีคุณภาพ


รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มธ. กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในบรรยากาศการหาเสียง ซึ่งทุกพรรคการเมืองต่างเห็นตรงกันที่จะให้น้ำหนักความสำคัญกับเรื่องเศรษฐกิจและปากท้อง แต่การแก้ปัญหาระยะยาวได้อย่างยั่งยืนคือการทำให้คนมีความรู้ และทักษะสำคัญที่ทุกคนต้องมีคือ ‘ทักษะการดูแลกาย – ใจ’ เพื่อจะทำให้เขาเป็นคนที่มีคุณภาพของสังคม รวมถึง ‘ทักษะการต่อยอดความรู้’ เพราะความรู้ในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สิ่งที่มหาวิทยาลัยและพรรคการเมืองควรสนับสนุนคือ การสร้างเครื่องมือกลไกให้คนสามารถที่จะเรียนรู้ต่อยอดไปถึงการมีทักษะสร้างอาชีพได้ด้วยตนเอง เช่น การที่ทุกคนมีโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ตอยู่ในมือ รัฐบาลก็ควรทำแอปพลิเคชันที่ส่งเสริมความรู้และทักษะใหม่ ตามอาชีพใหม่ที่เกิดขึ้นมาอย่างเช่น influencer, youtuber, tiktoker 


รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มธ. กล่าวอีกว่า ขณะนี้ มธ. กลับไปสู่ความเป็นตลาดวิชาที่เปิดให้ทุกคนมาเรียนวิชาที่ตัวเองสนใจ เรียนแค่ไหนก็ได้ จะเรียนเพื่อรับปริญญาหรือไม่ก็ได้ ถ้าเป็นปริญญาตอนนี้มีปริญญาโทออนไลน์ 4 หลักสูตร คือ M.B.A.(Business Innovation), Data Science, Learning Innovation และ Applied AI โดยที่เปิดรับนักศึกษาแล้ว ได้แก่ Business Innovation และ Data Science


ดังนั้น มธ. ในปัจจุบัน จึงกลายเป็นตลาดวิชาในยุคดิจิตอล ซึ่งไม่ว่าอยู่ที่ไหนในโลกก็สามารถเข้าถึงความรู้ที่ธรรมศาสตร์สร้างสรรค์ไว้ให้ได้


No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad