กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนโดยเฉพาะเกษตรกรที่ทำนา ทำสวน หรือหาปลาตามแหล่งน้ำ และผู้อาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วม ระวังป่วยเป็นโรคไข้ฉี่หนูหรือโรคเลปโตสไปโรสิส
ซึ่งพบผู้ป่วยมากในช่วงฤดูฝน เชื้อโรคสามารถผ่านเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนังจากการแช่น้ำ ย่ำดินชื้นแฉะ แนะนำให้หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลนหรือแช่น้ำนาน หากจำเป็นต้องลงพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง ควรใส่รองเท้าบูท เพื่อป้องกัน และหลังขึ้นจากน้ำให้รีบทำความสะอาดร่างกายด้วยสบู่และน้ำสะอาดทันที
วันนี้ (1 พฤศจิกายน 2565) นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงนี้หลายพื้นที่ยังคงมีน้ำท่วมขังหรือดินชื้นแฉะ ซึ่งประชาชนที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วม เกษตรกรที่ทำนา ทำสวน คนหาปลาหรือสัตว์น้ำตามหนองน้ำ ผู้ที่ทำงานสัมผัสกับน้ำหรือดินโดยตรง มีความเสี่ยง ต่อการป่วยเป็นโรคไข้ฉี่หนูได้ง่าย โรคนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในปัสสาวะของสัตว์นำโรค เช่น หนู หมู วัว ควาย และไหลปนเปื้อนมากับแหล่งน้ำ ลำคลอง แอ่งน้ำขังเล็กๆ รวมทั้งดินโคลนที่ชื้นแฉะ เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางบาดแผลหรือผิวหนังที่อ่อนนุ่มจากการแช่น้ำนาน การสำลักน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อขณะลงแช่น้ำ การกินอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป หลังติดเชื้อประมาณ 1-2 สัปดาห์ ผู้ป่วยจะมีเริ่มไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตัว หรือปวดกล้ามเนื้อรุนแรงโดยเฉพาะที่น่องหรือโคนขา ต่อมาอาจมีอาการตาแดง ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะออกน้อยหรือมีสีเข้ม หอบเหนื่อย ไอเป็นเลือด จนเกิดภาวะแทรกซ้อนและเสียชีวิตในที่สุด ซึ่งอาการระยะแรกจะคล้ายโรคติดเชื้ออื่นๆ หากผู้ป่วยซื้อยามารับประทานเองหรือเข้ารับการรักษาล่าช้า อาจเสียชีวิตได้
สถานการณ์โรคไข้ฉี่หนูตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 25 ตุลาคม 2565 พบผู้ป่วย 2,170 ราย เสียชีวิต 19 ราย ซึ่งสูงกว่าปีที่ผ่านมา กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ 45-54 ปี รองลงมา 55-64 ปี และ 35-44 ปี ตามลำดับ อาชีพส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรร้อยละ 40.1 และรับจ้างร้อยละ 26.5 โดยพื้นที่ที่พบอัตราป่วยสูงสุด ได้แก่ ภาคใต้ รองลงมา คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ตามลำดับ
นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับวิธีการป้องกัน โรคไข้ฉี่หนู สามารถทำได้ดังนี้ 1. หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลนโดยตรง หากจำเป็นควรสวมรองเท้าบูท เมื่อต้องย่ำดินที่ชื้นแฉะ ลุยน้ำท่วมขัง หรือทำความสะอาดบ้านเรือนหลังน้ำลด 2. หลังจากลุยน้ำย่ำโคลนหรือลงแช่น้ำ ให้ทำความสะอาดร่างกายด้วยสบู่และน้ำสะอาดทันที 3. หากมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตัวหรือปวดกล้ามเนื้อ หลังลุยน้ำย่ำโคลนหรือลงแช่น้ำ 1-2 สัปดาห์ อย่าซื้อยามารับประทานเอง ให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุดและแจ้งประวัติเสี่ยงให้แพทย์ทราบ จะช่วยป้องกันอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้ หากเข้ารับการรักษาภายใน 1-2 วัน หลังเริ่มป่วย สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
***********************************
ข้อมูลจาก : กองโรคติดต่อทั่วไป/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565
No comments:
Post a Comment