กรมควบคุมโรค เตือนนักท่องเที่ยวที่ลงเล่นน้ำทะเลช่วงหลังฝน ระมัดระวังแมงกะพรุนพิษ โดยเฉพาะแมงกะพรุนกล่องที่มีพิษร้ายแรง อาจทำให้เสียชีวิตภายใน 2-10 นาที แนะวิธีช่วยเหลือ โดยรีบนำผู้บาดเจ็บขึ้นจากน้ำและให้อยู่นิ่งๆ ราดน้ำส้มสายชูบริเวณที่สัมผัส ห้ามใช้น้ำจืด เหล้าขาว น้ำปัสสาวะ หรือแอลกอฮอล์ราดเด็ดขาด ห้ามขัดหรือถูบริเวณที่สัมผัส เพราะจะกระตุ้นการยิงเข็มพิษทำให้พิษเข้าสู่ร่างกายเพิ่มขึ้น
วันนี้ (1 พฤศจิกายน 2565) นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงภัยสุขภาพทางทะเลที่น่าเป็นห่วง คือ อันตรายจากแมงกะพรุนพิษ ซึ่งพบมากในบริเวณชายหาดในช่วงฤดูฝน แมงกะพรุนชนิดที่มีพิษร้ายแรงและอาจทำให้ผู้ที่สัมผัสเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว คือ แมงกะพรุนกล่อง (Box Jellyfish) ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับกล่องสี่เหลี่ยม ลำตัวใส ที่สายหนวดจะมีกระเปาะพิษที่หนวด แบ่งได้เป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ คือ ชนิดหนวดเส้นเดียว และชนิดหนวดหลายเส้น เมื่อได้รับพิษจากแมงกะพรุนกล่องสามารถแยกอาการชนิดของหนวดหลายเส้นกับเส้นเดียว โดยชนิดหนวดเส้นเดียว อาจมีอาการปวดหลัง คลื่นไส้ วิตกกังวล มักจะแสดงอาการมากขึ้นเรื่อยๆ แต่อาจไม่ปรากฏรอยไหม้ ซึ่งผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เกิดจากการสัมผัสกับแมงกะพรุนกล่องชนิดที่มีหนวดหลายเส้น อาการของผู้ที่โดนพิษแมงกะพรุนกล่อง มีตั้งแต่ผื่นแดง หรือรอยไหม้ที่ผิวหนัง ปวดแสบปวดร้อนรุนแรง หากได้รับพิษในปริมาณมาก พิษเข้าสู่กระแสเลือดและจะเข้าสู่หัวใจ ทำให้เวียนศีรษะ หัวใจหยุดเต้น ระบบหายใจล้มเหลว อาจเสียชีวิตได้ภายใน 2-10 นาที สถานการณ์ระหว่างปี 2542 - 2564 มีผู้ได้รับบาดเจ็บรุนแรงหรือเสียชีวิตจากแมงกะพรุนกล่อง รวม 48 ราย รายล่าสุดเป็นเด็กหญิงชาวต่างอายุ 6 ปี สงสัยสัมผัสแมงกะพรุนกล่องหลายสาย มีอาการไม่รู้สึกตัว มีบาดแผลเป็นรอยเส้นแดงเป็นเส้นคล้ายตีนตะขาบ แต่สามารถให้การรักษาทันเวลาและช่วยชีวิตไว้ได้ ขณะนี้เดินทางกลับประเทศอย่างปลอดภัย
นายแพทย์อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า การป้องกันการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากแมงกะพรุน สามารถป้องกันได้ทั้งด้านมาตรการ/จัดการสิ่งแวดล้อม ควรมีป้ายแจ้งเตือน ข้อความที่ถูกต้อง ชัดเจน มีเสาตั้งน้ำส้มสายชู และอุปกรณ์ปฐมพยาบาลไว้ริมหาด มีตาข่ายกั้นแมงกะพรุน พร้อมกับจัดอบรมผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ได้รับบาดเจ็บ ส่วนด้านบุคคลสามารถป้องกันตนเองได้ โดยการสวมเสื้อผ้ามิดชิดขณะลงเล่นน้ำ เช่น เสื้อแขนยาว กางเกงขายาวแนบตัว ไม่ควรลงเล่นน้ำหลังฝนตกหรือพบซากของแมงกะพรุนอยู่ตามชายหาด สังเกตจุดวางน้ำส้มสายชู และปฏิบัติตามป้ายเตือนตามสถานที่ท่องเที่ยวอย่างเคร่งครัด สำหรับวิธีการช่วยเหลือผู้ที่สัมผัสกับแมงกะพรุนคือ ให้รีบนำผู้บาดเจ็บขึ้นจากน้ำ ห้ามทิ้งผู้บาดเจ็บอยู่คนเดียว เพราะอาจหมดสติและเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นได้ ราดน้ำส้มสายชูบริเวณที่สัมผัสอย่างน้อย 30 วินาที ห้ามใช้น้ำจืด เหล้าขาว น้ำปัสสาวะ หรือแอลกอฮอล์ราดเด็ดขาด ห้ามขัดหรือถูบริเวณที่สัมผัส เพราะจะกระตุ้นการยิงเข็มพิษทำให้พิษเข้าสู่ร่างกายเพิ่มขึ้น หากผู้ได้รับบาดเจ็บหมดสติ ไม่หายใจ ไม่มีชีพจร ให้รีบปั๊มหัวใจ พร้อมกับโทรแจ้งทีมแพทย์ฉุกเฉิน โทร. 1669 ทันที
สอบถามเพิ่มเติมสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
*************************************
ข้อมูลจาก : กองป้องกันการบาดเจ็บ/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565
No comments:
Post a Comment