“พาณิชย์-DITP” แนะใช้ช่องทางอีคอมเมิร์ซ ขายสินค้าสุขภาพ ดูแลผิว อาหาร เครื่องดื่ม เจาะผู้บริโภคมะกัน - Go Ahead News

Go Ahead News

ก้าวไปข้างหน้ากับเรา

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Wednesday, May 17, 2023

“พาณิชย์-DITP” แนะใช้ช่องทางอีคอมเมิร์ซ ขายสินค้าสุขภาพ ดูแลผิว อาหาร เครื่องดื่ม เจาะผู้บริโภคมะกัน

 



กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เผยข้อควรรู้ตลาดอีคอมเมิร์ซสหรัฐฯ ปี 66 คาดจะมีผู้บริโภคชาวอเมริกันกว่า 265 ล้านคนซื้อสินค้าผ่านออนไลน์ ยอดขายจะสูงถึง 1.14 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เสื้อผ้าและเครื่องประดับ จะมีสัดส่วนมากสุด ตามด้วยเฟอร์นิเจอร์ ของแต่งบ้าน คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ เผยสินค้าสุขภาพ ดูแลผิว อาหารและเครื่องดื่ม จะมาแรง แนะผู้ประกอบการไทยหาโอกาสใช้ช่องทางอีคอมเมิร์ซ เพิ่มโอกาสขายสินค้าเจาะสหรัฐฯ


นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า กรมฯ ได้มอบนโยบายให้ทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ในประเทศต่าง ๆ ทำการสำรวจลู่ทางและโอกาสการส่งออกสินค้าไทยไปยังประเทศที่ประจำอยู่ และให้รายงานผลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้รับข้อมูลจากนางสาวเกษสุรีย์ วิจารณกรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ถึงข้อควรรู้ตลาดอีคอมเมิร์ซสหรัฐฯ ปี 2566 และโอกาสในการขยายตลาดส่งออกสินค้าไทยเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ ผ่านช่องทางออนไลน์


โดยทูตพาณิชย์ได้ให้ข้อมูลแนวโน้มตลาดอีคอมเมิร์ซสหรัฐฯ ปี 2566 ว่า จะมีผู้บริโภคชาวอเมริกันกว่า 265 ล้านคน ซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ หรือคิดเป็น สัดส่วน 20.8% ของยอดการค้าปลีกทั้งหมดในสหรัฐฯ และคาดว่าสัดส่วนดังกล่าว จะเพิ่มเป็น 23% ภายในปี 2568 และ Insider Intelligence บริษัทให้คำปรึกษาด้านการตลาดออนไลน์ ยังคาดว่ายอดขายของตลาดอีคอมเมิร์ซจะสูงถึง 1.14 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ


สำหรับเทรนด์ตลาดอีคอมเมิร์ซสหรัฐฯ ที่ผู้ประกอบการไทยควรรู้ ได้แก่ สินค้าที่คาดว่าจะมีการเติบโตมากที่สุดและมีสัดส่วนยอดขายมากที่สุด คือ เสื้อผ้าและเครื่องประดับ สัดส่วนยอดขาย 18.7% เฟอร์นิเจอร์ ของแต่งบ้าน คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ 15.7% สินค้าที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ และผลิตภัณฑ์ดูแลผิว 11.3% ส่วนกลุ่มที่คาดว่าจะโตมากที่สุดในช่วง 4 ปีข้างหน้า คือ สินค้าเกี่ยวข้องสุขภาพและผลิตภัณฑ์ดูแลผิว และสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม คาดว่า สัดส่วนยอดขายของสินค้าดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเป็น 13.3% และ 10.5% ตามลําดับในปี 2570


ส่วนพฤติกรรมชาวอเมริกันที่มีการสำรวจโดย ClearSale พบว่า เพศชายมีแนวโน้มที่จะซื้อสินค้าผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซมากกว่าเพศหญิง และผู้บริโภคชายอายุ 18-34 ปี กว่า 40% มีแนวโน้มซื้อสินค้าทุกประเภททางออนไลน์ แต่ผู้หญิงมีเพียง 33% ที่จะซื้อ โดยช่องทางอีคอมเมิร์ซชั้นนำ ยังคงเป็น Amazon , Walmart , Apple และ eBay แต่หมวดหมู่เจาะจงจะได้รับความนิยมและโตมากขึ้น เช่น Carvana ซึ่งเป็นเว็บไซต์ซื้อขายออนไลน์รถยนต์มือสอง และเว็บไซต์ Chewy ซึ่งเป็นเว็บไซต์ขายสินค้าเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงทุกประเภท  


ทางด้านการซื้อขายสินค้าผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย มีชาวอเมริกันสูงถึง 96.9 ล้านคนที่ซื้อ ยอดขายปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 992 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าปี 2566 จะเพิ่มเป็น 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐ และการซื้อขายผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือ เริ่มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น โดยปี 2565 มียอดซื้อถึง 43,100 ล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่าปี 2566 จะเพิ่มเป็น 51,100 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยผลสำรวจพบว่า Amazon เป็นแอปพลิเคชันบนมือถือที่มีการดาวน์โหลดมากที่สุดในสหรัฐฯ ตามด้วย Shein เป็นอันดับ 2 และแอปพลิเคชันที่เป็นนิยมรองลงมา ได้แก่ Walmart , Fetch Shop , Etsy , Nike และ Temu

“ตลาดอีคอมเมิร์ซสหรัฐฯ เป็นตลาดที่กำลังเติบโตและมีศักยภาพสูงในอนาคต แม้ว่าในปัจจุบันกลุ่มสินค้าที่ผู้บริโภคนิยมซื้อผ่านทางออนไลน์ยังคงเป็นสินค้าในกลุ่มเสื้อผ้า ไลฟ์สไตล์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ 

แต่คาดการณ์ว่าส่วนแบ่งตลาดของสินค้าอื่น ๆ เช่น สินค้าสุขภาพและผลิตภัณฑ์ดูแลผิว สินค้าอาหารและเครื่องดื่ม จะเพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรมองหาโอกาสในการเจาะตลาดสหรัฐฯ ผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซ เพื่อเพิ่มโอกาสให้กับสินค้าและอาจเพิ่มการนำเสนอและผลักดันสินค้าผ่านทางแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เพื่อแนะนำและทำให้สินค้าเป็นที่รู้จักมากขึ้นในตลาดสหรัฐฯ โดยอาจเพิ่มกลยุทธ์ในการนำเสนอสินค้าที่เน้นกลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่ ซึ่งนับว่าเป็นกลุ่มผู้บริโภคสำคัญในการเจาะตลาดผู้บริโภคสหรัฐฯ” นายภูสิตกล่าว


สำหรับผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th หรือสายตรงการค้าระหว่างประเทศ โทร 1169

****************************************

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

พฤษภาคม 2566


No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad