สธ. รณรงค์วันงดสูบบุหรี่โลก 2566 ภายใต้แนวคิด “บุหรี่ไฟฟ้ามีสารพิษ เสพติด อันตราย” - Go Ahead News

Go Ahead News

ก้าวไปข้างหน้ากับเรา

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Wednesday, May 31, 2023

สธ. รณรงค์วันงดสูบบุหรี่โลก 2566 ภายใต้แนวคิด “บุหรี่ไฟฟ้ามีสารพิษ เสพติด อันตราย”

 





กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดกิจกรรมวันงดสูบบุหรี่โลก เนื่องจากวันที่ 31 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันงดสูบบุหรี่โลก โดยได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงพระกรุณาโปรดให้พันตำรวจเอกณรัชต์ เศวตนันทน์ รองเลขาธิการพระราชวัง เป็นผู้แทนพระองค์ไปเป็นประธานเปิดงานรณรงค์วันงดสูบบุหรี่โลก ประจำปี 2566 และมอบรางวัล World  No Tobacco Day Award 2023 ภายใต้คำขวัญ “บุหรี่ไฟฟ้ามีสารพิษ เสพติด อันตราย” เพื่อป้องกันเยาวชนและประชาชนจากการเสพติดบุหรี่ไฟฟ้าทุกรูปแบบ

          

31 พฤษภาคม 2566  ที่โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชัน กรุงเทพฯ นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย Dr. Jos Vandelaer ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ศ.พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ ประธานสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ นางสาวพัทราภรณ์ แจ่มทอง ประธานชมรม GenZ Wangpong  ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ ผศ.ดร.นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ ร่วมแถลงข่าวรณรงค์วันงดสูบบุหรี่โลก ประจำปี 2566 

          

นพ.ธเรศ กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก ได้กำหนดให้วันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันงดสูบบุหรี่โลก โดยในปีนี้ ประเทศไทยได้กำหนดประเด็นรณรงค์ คือ “บุหรี่ไฟฟ้ามีสารพิษ เสพติด อันตราย” เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงสถานการณ์ความรุนแรง พิษภัยและอันตรายจากบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่ ที่ต้องการเพิ่มความน่าสนใจ รวมถึงเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงและการเสพติดผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ ซึ่งเป็นผลทำให้เกิดนักสูบหน้าใหม่จากผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่และบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น


สำหรับประเทศไทย แม้ว่าสถานการณ์การบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบภาพรวมมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 32 ในปี 2534 เหลือร้อยละ 17.4 ในปี 2564 แต่ในส่วนของนักสูบหน้าใหม่โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชน กลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งสาเหตุสำคัญหนึ่งมาจากปัญหาการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า ดังนั้น หากไม่มีมาตรการ   ควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าอย่างจริงจัง อาจส่งผลทำให้อัตราการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบในภาพรวมกลับเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566 ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบ 5 มาตรการ ในการป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย ได้แก่ 

1.การพัฒนาและจัดการองค์ความรู้              

2.สร้างความตระหนัก/รับรู้โทษ พิษภัยบุหรี่ไฟฟ้าให้แก่เด็ก เยาวชน รวมถึงสาธารณชน 

3.เฝ้าระวังและการบังคับใช้กฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า 

4.พัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่ายเพื่อสนับสนุนมาตรการป้องกัน ควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า และ  

5.ยืนยันนโยบายและมาตรการป้องกันปราบปรามการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า โดยได้มีการมอบหมายให้ทุกหน่วยงาน ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคม ร่วมกันดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวทั้งในระดับส่วนกลาง และระดับพื้นที่

          

Dr. Jos Vandelaer  ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า บุหรี่ไฟฟ้ายังคงถือเป็นบุหรี่   แม้ว่าจะไม่มีใบยาสูบเป็นส่วนประกอบ แต่บุหรี่ไฟฟ้ามีสารนิโคตินซึ่งเป็นสารเสพติดและมีสารเคมีอันตรายหลายชนิด ด้วยเหตุนี้ องค์การอนามัยโลก จึงสนับสนุนประเทศไทยในการออกกฎหมายห้ามนำเข้าและจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า      ซึ่งมาตรการดังกล่าวเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยในการปกป้องสุขภาพอนามัยประชาชนโดยเฉพาะเยาวชนจากอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า

          

ศ.พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ ประธานสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ กล่าวเสริมว่า ในนามสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ เครือข่ายวิชาชีพแพทย์ในการควบคุมการบริโภคยาสูบ และเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ ซึ่งเป็นการรวมกันของวิชาชีพสุขภาพ 23 องค์กร จะช่วยกันรณรงค์คุ้มครองสุขภาพอนามัยประชาชนคนไทยจากโรคภัยที่เกิดจากบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า พร้อมสนับสนุนให้รัฐบาลยืนหยัดกฎหมาย ห้ามนำเข้า ห้ามขาย และห้ามสูบบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเด็ดขาด และขอเรียกร้องไปยังพรรคการเมืองทุกฝ่าย ได้โปรดปกป้องพี่น้องประชาชน และดูแลลูกหลานไม่ให้เข้ามาข้องแวะกับบุหรี่ และบุหรี่ไฟฟ้า พร้อมขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พิจารณาบรรจุความรู้เกี่ยวกับพิษภัยของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในหลักสูตรของนักเรียนทุกระดับชั้นต่อไป

          

นางสาวพัทราภรณ์ แจ่มทอง ประธานชมรม GenZ Wangpong โรงเรียนวังโป่งศึกษา กล่าวว่า ในนามของกลุ่มตัวแทนเยาวชน GenZ ซึ่งถือเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญของบริษัทบุหรี่ รู้สึกไม่ดีกับผู้ใหญ่บางกลุ่มที่มุ่งเป้ามาที่เด็กและเยาวชน เพื่อหวังให้กลุ่ม GenZ มาใช้บุหรี่ซึ่งมีนิโคติน เป็นสารเสพติดมีฤทธิ์ต่อสมอง หากเยาวชนติดบุหรี่ อนาคตของชาติ ก็ถือว่าน่าเป็นห่วงอย่างมาก อีกทั้งในปัจจุบันมีกลยุทธ์ของบริษัทบุหรี่ ในการออกแบบบุหรี่ไฟฟ้าให้มีรูปร่าง และกลิ่นรส  ให้สูบง่าย ซึ่งทำให้บุหรี่ไฟฟ้าเสพติดได้ไวกว่า รวมทั้งสูบได้สะดวกและบ่อยครั้งเท่าที่ต้องการ ดังนั้นในนามของตัวแทนเยาวชนชมรม GenZ จะร่วมมือกันสร้างสมาชิก สร้างค่านิยมให้เยาวชน “เลือกไม่สูบ” รวมทั้งเป็นแกนนำสร้างความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับโทษภัยของบุหรี่ไฟฟ้า รวมทั้งไม่สนับสนุนให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย เพราะพฺษของบุหรี่ไฟฟ้าจะทำลายสมองและสุขภาพของเยาวชน

          

ผศ.ดร.นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันข้อมูลจากทั่วโลกบ่งชี้ว่า บุหรี่ไฟฟ้าก่อให้เกิดผู้เสพติดนิโคตินในกลุ่มเยาวชนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสารเสพติดอื่นๆ ในปี 2565 จากนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ทั่วประเทศ จำนวน 6,045 คน พบว่าเยาวชนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้ามีแนวโน้มลองสูบบุหรี่ธรรมดาเพิ่มขึ้น 5 เท่า และมีแนวโน้มที่สูบทั้งบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่ธรรมดาเพิ่มขึ้นถึง 7 เท่า ซึ่ง ศจย. ได้ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดการประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 21 เรื่องคนไทยไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า ในระหว่างวันที่ 1-2 มิถุนายน 2566 เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถึงประเด็นปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย และร่วมหาทางออกในการปกป้องเยาวชนจากบริษัทผู้ผลิตบุหรี่ไฟฟ้าที่หลอกล่อโดยการตลาดให้เป็นนักสูบหน้าใหม่ จากผลิตภัณฑ์ที่เป็นพิษอย่างบุหรี่ไฟฟ้า

          

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า เด็กและเยาวชนเป็นกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญของธุรกิจยาสูบ ซึ่งเยาวชนกลุ่มนี้หากเสพติดบุหรี่จะกลายเป็นลูกค้าของธุรกิจยาสูบไปอีกหลายสิบปี สสส. และภาคีเครือข่ายจึงให้ความสำคัญเรื่องการเสริมสร้างให้ประชาชนมีข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับพิษภัยของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า และการรู้เท่าทันกลยุทธ์ของธุรกิจยาสูบ เพื่อปกป้องสุขภาพประชาชนให้ปลอดภัยจากควันบุหรี่ โดยสนับสนุน ทั้งการผลักดันนโยบายด้านการควบคุมยาสูบ การพัฒนาองค์ความรู้ทางวิชาการ และการรณรงค์สื่อสารสังคม เพื่อให้ประชาชนเกิดความตื่นตัว ตระหนักถึงพิษภัยของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า นำไปสู่การปรับเปลี่ยนค่านิยม ลด ละ เลิกสูบบุหรี่ และการสร้างสิ่งแวดล้อมปลอดบุหรี่ โดยเฉพาะการป้องกันนักสูบหน้าใหม่ในกลุ่มเด็กและเยาวชน รวมถึงกลุ่มผู้สูบหนักที่จำเป็นต้องได้รับการบำบัด และการรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ในบ้าน ป้องกันเด็กและเยาวชนอาจเลียนแบบพฤติกรรม ส่งผลให้กลายเป็นนักสูบหน้าใหม่ในอนาคต

          

นพ.ธเรศ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับกิจกรรมรณรงค์วันงดสูบบุหรี่โลก ได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงพระกรุณาโปรดให้ พันตำรวจเอกณรัชต์ เศวตนันทน์ รองเลขาธิการพระราชวัง  เป็นผู้แทนพระองค์ไปเป็นประธานเปิดงานรณรงค์วันงดสูบบุหรี่โลก ประจำปี 2566 และมอบรางวัล   World  No Tobacco Day Award 2023 และโล่ประกาศเกียรติคุณให้แก่บุคคล รวมถึงหน่วยงานที่มีผลงานยอดเยี่ยมและให้การสนับสนุนการดำเนินงานควบคุมยาสูบด้วยดีตลอดมา กระทรวงสาธารณสุข ขอแสดงความยินดีกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในโอกาสได้รับรางวัล World  No Tobacco Day Award 2023 


และขอแสดงความยินดีกับ พันตำรวจเอกประทีป เจริญกัลป์ รองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ที่ได้รับรางวัล Regional Director’s Appreciation Award ขององค์การอนามัยโลก รวมทั้งหน่วยงานและผู้ที่ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณเนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก ประจำปี 2566 ทุกท่าน  


 *************************************

ข้อมูลจาก : กองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กรมควบคุมโรค 

วันที่ 31 พฤษภาคม 2566


No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad