กรมควบคุมโรค เผยไทยได้รับคำชมในฐานะประธานจัดประชุม UNAIDS PCB ครั้งที่ 51 พร้อมเร่งขับเคลื่อนเตรียมนับถอยหลัง 8 ปียุติเอดส์ “ไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง และถูกตีตราหรือเลือกปฏิบัติจากเอชไอวี” - Go Ahead News

Go Ahead News

ก้าวไปข้างหน้ากับเรา

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Friday, December 16, 2022

กรมควบคุมโรค เผยไทยได้รับคำชมในฐานะประธานจัดประชุม UNAIDS PCB ครั้งที่ 51 พร้อมเร่งขับเคลื่อนเตรียมนับถอยหลัง 8 ปียุติเอดส์ “ไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง และถูกตีตราหรือเลือกปฏิบัติจากเอชไอวี”

 







วานนี้ (16 ธันวาคม 2565) ที่โรงแรมแชงกรี-ลา จังหวัดเชียงใหม่ นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ร่วมประชุมคณะกรรมการบริหารของโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 51 (The 51st UNAIDS Programme Coordinating Board Meeting : PCB) นับเป็นวันสุดท้ายของการประชุมครั้งสำคัญ ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุม โดยมีผู้แทนจากประเทศสมาชิก 22 ประเทศ หน่วยงาน UN Cosponsors 11 องค์กร และองค์กรเอกชนต่างประเทศ 5 องค์กร รวมประมาณ 220 คน เข้าร่วมการประชุม 


นายแพทย์ธเรศ กล่าวว่า ประเด็นสำคัญในการประชุมฯ ได้แก่ ประเด็นแรก การผลักดันการจัดบริการที่นำโดยชุมชนและกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบ เช่น กลุ่มประชากรหลัก ผู้ติดเชื้อเอชไอวี เยาวชน ให้มีส่วนร่วมในการจัดบริการและเรียกร้องให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณดำเนินงานอย่างเพียงพอและยั่งยืน ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนานโยบาย และขอให้รัฐบาลเปิดใจรับฟังเสียงของชุมชน และลงทุนสนับสนุนเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง  


ส่วนประเด็นที่สอง การนำเสนอผลประเมินการดำเนินงานของโครงการร่วม ซึ่งทำใน 6 ประเทศ ได้แก่ แคเมอรูน เคนยา เปรู ไทย ตูนิเซีย และยูเครน โดยภาพรวมพบว่าโครงการร่วมมีบทบาทสำคัญที่สนับสนุนการดำเนินงานของกลุ่มประชากรหลักในแต่ละประเทศ แต่ยังต้องเพิ่มการสนับสนุนให้กลุ่มประชากรหลักมีบทบาทร่วมในการผลักดันนโยบาย และจำเป็นต้องจัดลำดับความสำคัญและทรัพยากรสำหรับการออกแบบแผนงานโครงการสำหรับกลุ่มประชากรหลัก  โดยควรอยู่บนข้อมูลเชิงประจักษ์ว่าพื้นที่ใดที่มีการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่มาก และความยั่งยืนทางการเงินที่ยังเป็นช่องว่างสำคัญ ควรวางแผนและบูรณาการเอชไอวีเข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศ

 

ด้านนายแพทย์ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า ระหว่างการประชุม UNAIDS ยังมีกิจกรรมคู่ขนาน เพื่อเป็นเวทีเปิดให้คนทำงานเอดส์จากองค์กรต่างๆ ได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นในประเด็นสำคัญกับผู้เข้าร่วมประชุมฯ ซึ่งในเวทีนี้มีตัวแทนเยาวชนที่มีเชื้อเอชไอวีสะท้อนผลกระทบจากการตีตราและการเลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากเอชไอวี ว่า “ตอนเราไปสมัครงาน เขาขอตรวจเอชไอวี เมื่อผลออกมา พวกเขาปฏิเสธเรา” และยิ่งในสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 พวกเขาก็เป็นกลุ่มแรกที่ถูกให้ออกจากงาน แต่แม้จะเป็นผู้ได้รับผลกระทบแต่พวกเขายังลุกขึ้นมาต่อสู้ ร่วมทำงานเพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงการตีตราและเลือกปฏิบัติ และให้ประชาชนเข้าใจข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี รวมถึงการเรียกร้องให้มีกฎหมายคุ้มครองพวกเขาจากการถูกละเมิดสิทธิเนื่องจากเอชไอวี “ไม่ควรมีใครต้องเจ็บปวดจากการตีตราและเลือกปฏิบัติ ไม่ว่าจะมีเชื้อหรือไม่มีเชื้อเอชไอวีก็ตาม” นอกจากนี้ ยังกล่าวถึงการดำเนินงานในกลุ่มพนักงานบริการ ที่ต้องส่งเสริมป้องกันให้ปลอดภัยจากเอชไอวีและคุ้มครองสิทธิของพนักงานบริการ การกระทำอย่างแรกที่ทุกคนทำได้ คือ การมีวิธีคิดที่มองคนว่าทุกคนมีความเท่าเทียมกันและมีศักดิ์ศรี ควรได้รับการคุ้มครองตามหลักสิทธิมนุษยชน


“แม้การประชุมครั้งนี้จะสิ้นสุดลง แต่ประเทศสมาชิกยังต้องร่วมมือกันในการขับเคลื่อนการดำเนินงานแก้ไขปัญหาเอดส์ต่อไป โดยมีเป้าหมายสำคัญร่วมกัน คือ การยุติเอดส์ ความเหลื่อมล้ำ ลดการตีตราและการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบ เพื่อนำไปสู่การยุติเอดส์ ภายในปี 2573”


********************************

ข้อมูลจาก : กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

วันที่ 17 ธันวาคม 2565

No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad