BigStep "ก้าวไปข้างหน้าพร้อมกับนานาชาติ " มท. – ผนึกกำลัง UN ประจำประเทศไทย และกระทรวง ทส. ลงนาม MOU ส่งเสริมผลิตภัณฑ์ผ้าไทย ภูมิปัญญาไทย - Go Ahead News

Go Ahead News

ก้าวไปข้างหน้ากับเรา

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Wednesday, February 22, 2023

BigStep "ก้าวไปข้างหน้าพร้อมกับนานาชาติ " มท. – ผนึกกำลัง UN ประจำประเทศไทย และกระทรวง ทส. ลงนาม MOU ส่งเสริมผลิตภัณฑ์ผ้าไทย ภูมิปัญญาไทย

 








BigStep "ก้าวไปข้างหน้าพร้อมกับนานาชาติ "  มท. – ผนึกกำลัง UN ประจำประเทศไทย และกระทรวง ทส. ลงนาม MOU ส่งเสริมผลิตภัณฑ์ผ้าไทย ภูมิปัญญาไทย ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม น้อมนำพระดำริ “เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” เพื่อมุ่งเป้าสู่การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนควบคู่การสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีของโลกใบเดียวนี้อย่างยั่งยืน


20 ก.พ. 66 

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นางกีต้า ซับบระวาล (Mrs. Gita Sabharwal, UN Resident Coordinator in Thailand) ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ผ้าไทย ภูมิปัญญาไทย ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยนายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และนายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เป็นผู้ลงนาม โดยมี นายพรพจน์ เพ็ญพาส รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านกิจการความมั่นคงภายใน นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง  ศ.ดร.ชนาธิป ผาริโน นางประเสริฐสุข เพฑูรย์สิทธิชัย ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย นายวรงค์ แสงเมือง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นางสาวณัฐนิช อินทสระ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชน (พช.) ข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ ภาคีเครือข่าย คณะผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย คณะผู้บริหารกรมการพัฒนาชุมชน และสื่อมวลชน ร่วมในพิธี


นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวว่า “วันนี้เป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่” ที่พวกเราชาวมหาดไทยและภาคีเครือข่าย จะได้เป็นพลังที่สำคัญในการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากอาชีพเสริม และอาชีพหลักที่ก่อเกิดจากการนำภูมิปัญญาผ้าไทยของบรรพบุรุษมาส่งเสริมวิถีชีวิตที่ดีให้กับพี่น้องประชาชนคนไทย “ทำในสิ่งที่เราคิดว่าไม่น่าเป็นไปได้” เพราะความคุ้นชินของระบบอุตสาหกรรมจากการใช้สารเคมี สีเคมี มันฝังอยู่ในจิตสำนึกของวิถีชีวิตคนไทยมาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่เราพยายามพัฒนาประเทศไปสู่ประเทศอุตสาหกรรมใหม่


“ด้วยพระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่พระองค์ทรงมีความมุ่งมั่นในการทรงงานช่วยเหลือพี่น้องประชาชนผ่านกระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน ในเรื่องของการพัฒนาคุณภาพชีวิตผ่านการรักษาภูมิปัญญาผ้าไทย ซึ่งพระองค์ทรงเป็นผู้ผลักดันและเชื้อเชิญให้พี่น้องประชาชนได้ปรับเปลี่ยนการทำงานหาเลี้ยงชีพในด้านงานผ้า ด้วยการเลิกใช้สีเคมี เลิกใช้เทคโนโลยีที่ทำลายสิ่งแวดล้อม โดยทรงมีพระดำรัสให้ประชาชนช่างทอผ้าและผู้ประกอบการ OTOP ผ้าไทยทั้ง 76 จังหวัด น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้พี่น้องประชาชนพึ่งพาตนเองในเรื่องของการปลูกฝ้าย ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม และปลูกพืชให้สีธรรมชาติ มาช่วยดูแลครอบครัว ดูแลสังคม และทำให้การประกอบการเรื่องการทอผ้าประเภทต่าง ๆ เกิดความเป็นมิตรให้กับสิ่งแวดล้อม และโลกใบนี้ ซึ่งท้ายที่สุดจะยังผลทำให้เกิดความมั่นคงของชาติและส่งผลต่อความมั่นคงของโลก เพราะการที่เราใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาตินั้นจะลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ที่ทำให้เกิดภาวะก๊าซเรือนกระจกหรือภาวะโลกร้อน” 


นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระประสงค์อันแรงกล้า โดยทรงแสดงออกทุกวิถีทางในการทำให้พี่น้องคนไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างความยั่งยืนให้กับโลกใบนี้ เช่น เมื่อครั้งเสด็จทรงงานในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ และเมื่อผู้ประกอบการทูลเกล้าฯ ถวายผืนผ้าสวย ๆ งาม ๆ และเมื่อทรงตรัสถามจนได้ทราบว่าผ้านั้นใช้สีเคมี พระองค์ท่านจะทรงปฏิเสธแบบตรงไปตรงมา ว่าไม่รับ และขอให้ช่วยกลับไปทอ โดยใช้ผ้าที่ใช้สีธรรมชาติ แล้วค่อยนำมาถวายใหม่ กลายเป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญ ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านจากการใช้สีเคมีในการทอผ้ามาสู่การใช้สีธรรมชาติ นอกจากนี้ พระองค์ทรงเล็งเห็นถึงอนาคตของการดำรงชีวิตของประชาชน จึงพระราชทานแนวพระดำริเรื่อง “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” ผ่านกระทรวงมหาดไทย ทั้งการน้อมนำแนวพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหาร การถ่ายทอดองค์ความรู้ในด้านสิ่งแวดล้อม การดูแลรักษาศิลปวัฒนธรรม ที่สอดคล้องกับหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน (UN SDGs) ทั้ง 17 ข้อ เช่น การบริหารจัดการขยะ และการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกำลังจะรับรองในวันที่ 28 ก.พ. 66 นี้ว่าถังขยะเปียกสามารถนับจำนวนหน่วยการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยายกาศของโลกเป็นคาร์บอนเครดิตได้ รวมถึงการลดความหิวโหย ความอดอยาก และการสร้างความเท่าเทียม ทำให้ผู้คนในหมู่บ้าน/ชุมชน องค์กร สถาบันการศึกษา และพี่น้องประชาชน มาเป็น Partnership ทำสิ่งที่ดี เพื่อ Change for Good เฉกเช่นที่พวกเรามาพร้อมหน้ากันในวันนี้ ด้วยความภาคภูมิใจ ขอขอบคุณคุณกีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงาน UN ประจำประเทศไทย ศ.ดร.ชนาธิป ผาริโน อ.ประเสริฐสุข เพฑูรย์สิทธิชัย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และพวกเราชาวมหาดไทยทุกคน ที่เพียรพยายามเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงทำให้เราลดก๊าซเรือนกระจก ร่วมกันก้าวไปสู่อนาคตที่ทำให้โลกใบนี้อยู่คู่กับลูกหลานของเรา อันเป็นโอกาสที่จะทำให้พวกเราเดินไปข้างหน้าพร้อมกับนานาชาติ BigStep ในการขับเคลื่อน 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีท่านผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ 7 ภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อนด้วยคำมั่นสัญญาว่า “เราจะใช้เวลาที่มีอยู่ทุกนาทีเพื่อช่วยกัน Change for Good เพื่อให้โลกของเราเป็นโลกที่น่าอยู่ เป็นโลกที่คนทุกคนอาศัยอย่างมีความสุข ทั้งในปัจจุบันและในอนาคตไปพร้อม ๆ กันกับ UN และ 7 ภาคีเครือข่ายตลอดไป”


นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ขอชื่นชมกระทรวงมหาดไทยที่เป็นผู้นำการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมมาอย่างยาวนาน ทั้งนี้ ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างสองกระทรวงในครั้งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาการลดภาวะโลกร้อนให้บรรลุวัตถุประสงค์ได้อย่างเร็วมากขึ้น เพราะภาวะโลกร้อนส่งผลกระทบอย่างมากต่อสิ่งแวดล้อมประเทศไทยและโลกใบนี้ การทำในวันนี้เป็นการทำในระดับฐานรากที่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อบรรลุเป้าหมายสำคัญคือประเทศไทยจะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 


"ต้องขอขอบคุณกระทรวงมหาดไทยโดยกรมการพัฒนาชุมชน ที่ได้นำมาตรการดังกล่าวมาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาสินค้า “ผ้าไทยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” อันหมายความว่าหลังจากนี้ต่อไป “ผ้าไทย” นอกจากมีคุณค่าต่อชุมชน/สังคม และมีคุณประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนแล้ว ยังทำให้ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพิ่มโอกาสการแข่งขันด้านการตลาดกับประเทศต่าง ๆ และนำมาซึ่งรายได้ของเกษตรกรที่มีความยั่งยืน สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ประเทศไทยในการพัฒนาด้วยความมั่นคง มั่นคั่ง สู่อนาคตที่ยั่งยืน” รองปลัด ทส. กล่าวเพิ่มเติม


นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า  มีความยินดีในการลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ นับเป็นโอกาสอันดีที่จะนำมาซึ่งความเชื่อมั่นในสินค้า OTOP ประเภทผ้าของไทย และการก้าวสู่สากล รวมถึงเป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วย ในช่วงระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา กรมการพัฒนาชุมชน ได้ขับเคลื่อนหลายโครงการ เช่น โครงการดอนกอยโมเดล, โครงการสืบสานพระราชปณิธาน "นาหว้าโมเดล" ในโอกาสครบรอบ 50 ปี โครงการศิลปาชีพ, โครงการพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาผลิตภัณฑ์ Young OTOP สู่สากลรวมถึงโครงการพัฒนารูปแบบชุมชนภูมิปัญญาเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับโครงการดอนกอยโมเดล และโครงการสืบสานพระราชปณิธาน "นาหว้าโมเดล" ด้วยสำนึกในพระกรุณาธิคุณ ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการรักษาและต่อยอดพระราชปณิธานของสมเด็จ พระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง ตลอดจนได้ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญในการ สร้างงาน สร้างรายได้ ให้แก่ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ซึ่งในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาพระองค์ มีพระดำริให้ ขับเคลื่อนโครงการด้านผ้าไทยและส่งเสริมให้มีการย้อมสีธรรมชาติให้กับกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อให้เกิดการรักษาสิ่งแวดล้อมกรมการพัฒนาชุมชนได้ดำเนินการก่อตั้ง "ศูนย์เรียนรู้ผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย "วิชชาลัยดอนกอย วิถีแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน" เป็นแหล่งรวบรวมภูมิปัญญาเรื่อง ผ้าทอพื้นเมืองของจังหวัดสกลนคร เป็นแหล่งถ่ายทอดองค์ความรู้กระบวนการทอผ้า และเรียนรู้นวัตกรรมใหม่ ๆ ให้แก่ผู้ที่สนใจสามารถนำไปประกอบอาชีพได้ และต้นแบบ ของการพัฒนาชุมชนที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมตามหลัก Bio-Circular-Green Economy : BCG สร้างความตระหนักให้รู้ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับคนทอผ้า คนย้อมผ้า และอาจส่งไปถึงผู้สวมใส่หากใช้ สารเคมีในการย้อมผ้า อีกทั้งยังเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน"


ด้านนางกีต้า ซับบระวาล (Mrs. Gita Sabharwal, UN Resident Coordinator in Thailand) ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย กล่าวว่า ขอชื่นชมกระทรวงมหาดไทยที่เป็นองค์กรที่มีวิสัยทัศน์ก้าวไกลในการมองเห็นความสำคัญของก้าวที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งกิจกรรมในวันนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในการริเริ่มการทดสอบการวัดค่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนของกระบวนการผลิตผ้าไทย โดยใช้มาตรฐานสากลที่กำหนดโดยกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) การประเมิน Carbon Footprint จากการผลิตสิ่งทอในระดับท้องถิ่น อันเป็นกุญแจสำคัญในการลดการปล่อยมลพิษอย่างครบวงจร ตั้งแต่กระบวนการจัดหาวัตถุดิบไปจนถึงขั้นตอนการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ซึ่งหลายประเทศในสหภาพยุโรปได้ดำเนินการประเมินและกำหนดค่ามาตรฐาน Carbon Footprint ในกระบวนการผลิตสิ่งทอแล้ว


“การดำเนินการในเรื่องนี้จะส่งผลให้เกิดการก้าวกระโดดครั้งใหญ่สู่การผลิตผ้าไทยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่จะได้รับการยอมรับในระดับโลกต่อไป นอกจากนี้จะยังเป็นการสนับสนุนการดำเนินการด้านสภาพอากาศอย่างเร่งด่วน เนื่องจากภาคส่วนสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทั่วโลกคิดเป็นสัดส่วนระหว่างร้อยละ 6 - ร้อยละ 8 ของการปล่อยคาร์บอนทั้งหมดทั่วโลก และจะเป็นประโยชน์ทางด้านสังคมและเศรษฐกิจอย่างมากอีกด้วย เพราะสตรีไทยผู้ทอผ้าเกือบ 2,000,000 คนที่ทำงานผ่านกลุ่มทอผ้ากว่า 100,000 กลุ่มที่ผลิตผ้าและผลิตภัณฑ์อื่น ๆ จะเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการดำเนินการนี้ นอกจากนี้ ต้องขอบคุณกระทรวงมหาดไทยที่ได้ดำเนินการสนับสนุนการคัดแยกขยะทั่วประเทศ และความร่วมมือกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกในครั้งนี้ จะก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน อ้างอิงจากการตรวจติดตามคุณภาพโดยหน่วยงานภายนอกนั้น แสดงให้เห็นว่าการขยายมาตรการการแยกขยะและการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อนไปยังกว่า 12 ล้านครัวเรือนจะนำไปสู่การลดคาร์บอนกว่า 530,000 ตัน และเกิดเป็นคาร์บอนเครดิต  โดยคาร์บอนเครดิตเหล่านี้จะช่วยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสร้างแรงจูงใจให้ชุมชนยกระดับการคัดแยกขยะในชุมชนและการทำปุ๋ยหมักชีวภาพให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นไปอีก ทั้งนี้ สหประชาชาติและกระทรวงมหาดไทยจะได้ร่วมมือเป็น Partnership กันเพื่อสร้างประโยชน์และการมีส่วนร่วมที่สำคัญในการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการลดคาร์บอนในระยะยาวและเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในกลางศตวรรษ ในขณะเดียวกันก็จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและผลตอบแทนทางสังคมให้กับผู้คนหลายล้านคนในอีกหลายปีข้างหน้า” นางกีต้าฯ กล่าวในช่วงท้าย

No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad